ว่าที่ปลัดคลังเชื่อศก.ฟื้นแน่ Q4,นายแบงก์-เอกชน มองกู้ 4 แสนลบ.เป็นทางรอด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 4, 2009 16:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการ ธนาคารทหารไทย(TMB)ว่าที่ปลัดกระทรวงการคลังคนใหม่ กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง Thailand Economic Situation ว่า จากดัชนีทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ เช่น ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม อัตราการใช้กำลังการผลิต ขณะนี้เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นแล้ว สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จึงเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/52 ที่ติดลบ 7.1% จะเป็นจุดต่ำสุดแล้ว

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง และจะส่งผลต่อการลงทุนในประเทศที่จะต้องใช้เวลาฟื้นตัวด้วย ดังนั้น หากไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลเป็นไปตามแนวทางที่วางไว้ ก็เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวเป็นบวกได้ในไตรมาส 4/52

ทั้งนี้ การวางมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 วงเงิน 1.43 ล้านล้านบาท เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งระบบชลประทาน ระบบคมนาคมขนส่ง การศึกษา การสาธารณสุข จะเป็นการวางรากฐานต่อเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะยาว ส่วนหนึ่งจะมีการกู้เงินตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างเศรษฐกิจวงเงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อดำเนินการลงทุนตามโครงการเร่งด่วน ขณะที่โครงการไม่เร่งด่วนจะดำเนินการตาม พ.ร.บ.การกู้เงิน 4 แสนล้านบาท

ด้านนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กล่าวเสวนาเรื่อง "ทางรอดเศรษฐกิจไทย ท่ามกลางไฟวิกฤติโลก"ว่า รัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มเพื่อนำเงินมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้รัฐบาลต้องออกจากกรอบวินัยการเงินการคลังชั่วคราวเป็นเวลา 3 ปี

ภายหลัง พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท ผ่านการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาได้ในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ โดยแผนการกู้เงินงวดแรก 2 แสนล้านบาท จะนำมาสมทบเงินคงคลัง ชดเชยรายได้ภาษีที่คาดว่าจะจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 2.8 แสนล้านบาท โดยในเดือน ก.ย.52 จะกู้เงิน 1.2 แสนล้านบาท และ ภายใน ต.ค.-ธ.ค.52 จะกู้อีก 80,000 ล้านบาท

สำหรับการกู้เงินของรัฐบาล จะนำไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่ได้จัดทำไว้ โดยกลุ่มที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดจากการลงทุนภาครัฐ ยอมรับว่า เป็นภาคก่อสร้าง เนื่องจากเป็นการลงทุนในการวางโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเป็นหลัก และจะเป็นประโยชน์ต่อภาคสังคมโดยรวมในอนาคต

ด้านนายเสถียร ตันธนะสฤษดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ TMB กล่าวว่า จากแผนการกู้เงินของรัฐบาลตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทน (yeild curve)พันธบัตรและตราสารหนี้ภาคเอกชนอย่างแน่นอน เนื่องจากเป็นวงเงินกู้ที่สูงมาก แม้รัฐบาลจะวางแนวทางการระดมเงินให้มีความหลากหลายก็ตาม ดังนั้น เห็นว่ารัฐบาลควรต้องมีแนวทางการแทรกแซง เพื่อไม่ให้การระดมเงินภาครัฐ กระทบต่อผลตอบแทนในตลาด

อย่างไรก็ตาม เห็นว่าแนวทางการระดมเงินภาครัฐ โดยการออกเป็นพันธบัตรออมทรัพย์เป็นทางเลือกที่จะส่งผลกระทบต่อ yeild curve น้อยที่สุด เนื่องจากที่ผ่านมาการออกพันธบัตรออมทรัพย์นั้น รัฐบาลสามารถควบคุม yeild curve ไม่ให้มีผลต่อตลาดไม่มาก แต่ยอมรับว่าคงเป็นเรื่องยากที่รัฐบาลจะดำเนินการระดมเงินโดยออกเป็นพันธบัตรออมทรัพย์ได้ทั้งหมด

ด้านนายอนุกูล แต้มประเสริฐ รองเลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.)เชื่อว่า การที่รัฐบาลมีแผนการกู้เงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อนำเงินไปลงทุนในโครงการต่างๆ ตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 จะเป็นผลดีต่อการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นต่อภาคเอกชน แม้เม็ดเงินจริงที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอาจไม่มากก็ตาม แต่ถือเป็นการมองไปข้างหน้า และวางพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศ

"ตอนนี้ภาคเอกชน ยังคงไม่มีความเชื่อมั่น จะทำอะไรก็ต้องระวัง ทำอะไรแบบประคองตัว จนมองเป็นข้อจำกัดของภาคเอกชน ดังนั้น หากรัฐบาลสร้างความเชื่อมั่นว่าจะมีการลงทุนของภาครัฐ เชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจไปได้ ก็สร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นแล้ว" นายอนุกูล กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ