สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) คาดการณ์ว่า ยอดขายเครื่องบินของบริษัท แอร์บัส เอสเอเอส และบริษัท โบอิ้ง โค จะร่วงลง 30% ในปีหน้า เนื่องจากสายการบินหลายแห่งตั้งแต่สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส สายการบินที่สามารถทำกำไรได้สูงสุดในเอเชีย ไปจนถึงสายการบินต้นทุนต่ำอย่างเซาท์เวสต์ แอร์ไลนส์ ต่างก็ลดจำนวนเที่ยวบิน
"สายการบินหลายแห่ง ตั้งแต่สายการบินรายใหญ่ไปจนถึงสายการบินต้นทุนต่ำ ต่างลดเที่ยวบินกันถ้วนหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจถดถอยทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคหดตัวลง เมื่อจำนวนเที่ยวบินลดลงยอดการสั่งซื้อเครื่องบินก็น้อยลงด้วย จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อแอร์บัสและโบอิ้ง สองบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินที่กำลังแข่งขันกันเองโดยไม่มีคู่แข่งรายอื่น ประสบการณ์ในอดีตทำให้เราคาดว่ายอดขายเครื่องบินของโบอิ้งและแอร์บัสจะทรุดตัวลงถึง 30% ในปีหน้า" นายโจวานนี บิซิญานี ซีอีโอ IATA กล่าว
บิซิญานีกล่าวว่า ผลประกอบการของบริษัทผลิตเครื่องบินหดตัวลงเนื่องจากจำนวนเที่ยวบินปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเที่ยวบินชั้นเฟิร์สท์คลาส นอกจากนี้ ความยากลำบากในการกู้ยืมเงินยังบีบให้สายการบินหลายแห่งต้องลดเที่ยวบิน ทั้งนี้ คาดว่าจะมีสายการบินอีกหลายแห่งยกเลิกคำสั่งซื้อเครื่องบินหรือชะลอการสั่งซื้อเครื่องบินก่อนที่ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยจะสิ้นสุดลง
อย่างไรก็ตาม แอร์บัสซึ่งมีฐานการผลิตอยู่ในเมืองตูลูสประเทศฝรั่งเศส และโบอิ้งซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในเมืองชิคาโกของสหรัฐ ต่างมีมุมมองที่เป็นบวกต่อทิศทางในอนาคต โดยจอห์น เลฮีย์ ซีอีโอแอร์บัสคาดว่ายอดขายเครื่องบินในปีนี้จะทรงตัวเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่โบอิ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังคงผลิตเครื่องบินรุ่น 737 ซึ่งเป็นเครื่องรุ่นที่ขายดีที่สุดต่อไป
IATA คาดว่า ธุรกิจสายการบินทั่วโลกปีนี้จะขาดทุนมากกว่า 4.7 พันล้านดอลลาร์ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกทำให้ความต้องการในการเดินทางและการใช้บริการในชั้นธุรกิจหดตัวลง พร้อมกับย้ำว่าธุรกิจสายการบินจะไม่ฟื้นตัวขึ้นจนกว่าจะถึงปี 2554
นอกจากนี้ IATA กล่าวว่าเที่ยวบินของสายการบินทั่วโลกลดลง 11% ในเดือนมี.ค. ขณะที่สายการบินหลายแห่งกำลังลดการจ้างงานและลดเที่ยวบิน เพื่อประคองตัวเองให้สามารถอยู่รอดในยามที่เศรษฐกิจโลกถดถอยถ้วหน้า สถานการณ์ดังกล่าวทำให้สายการบินบริติช แอร์เวย์ส, คาเธ่ย์ แปซิฟิก แอร์เวยส์ และเจแปน แอร์ไลน์ส ขาดทุนอย่างหนัก สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน