คชก.ไฟเขียวจำนำกุ้งหมื่นตันเริ่ม มิ.ย.-ก.ค.แต่ราคาต่ำกว่าข้อเสนอ 5 บาท

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 5, 2009 17:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและมาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร(คชก.) มีมติให้เปิดรับจำนำกุ้งจากเกษตรกรอีกรอบในปี 52 ปริมาณ 10,000 ตัน ในวงเงิน 1,400 ล้านบาท แต่ขอปรับลดราคารับจำนำลงจากที่เกษตรกรเสนอมารายการละ 5 บาท/กก.

โดยกำหนดราคารับจำนำกุ้งขนาด 50 ตัว/กก.ไว้ที่ราคา 135 บาท/กก., ขนาด 60 ตัว/กก.ราคา 125 บาท/กก. และขนาด 70 ตัว/กก.ราคา 110 บาท/กก. เริ่มตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ก.ย.52

สำหรับรูปแบบการรับจำนำและหน่วยงานที่จะเข้าไปบริหารจัดการเพื่อให้รัฐบาลขาดทุนน้อยที่สุดนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำไปพิจารณาและนำกลับเข้ามาเสนอต่อที่ประชุมฯ อีกครั้งในสัปดาห์หน้า

นอกจากนี้ที่ประชุมฯ ยังอนุมัติเงินทุนหมุนเวียนปลอดดอกเบี้ยจำนวน 300 ล้านบาท ใช้ในโครงการรับซื้อสินค้าเกษตรล่วงหน้า(คอนแทรคฟาร์มมิ่ง) เพื่อให้กลุ่มสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งกู้ยืม และเข้าไปรับซื้อกุ้งโดยตรงจากกลุ่มผู้เลี้ยงที่เป็นสมาชิกประมาณ 3,000 ราย ปริมาณ 15,000 ตัน ซึ่งรวมแล้วสามารถช่วยเหลือผู้เลี้ยงกุ้งทั้ง 2 ระบบได้จำนวน 2.5 หมื่นตัน คาดว่าครัวเรือนผู้เลี้ยงกุ้งจะได้ประโยชน์ 30,000 ราย

นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า ได้รับรายงานจากอนุกรรมการโครงการแทรกแซงตลาดกุ้ง ปี 48/49 พบว่าโครงการแทรกแซงดังกล่าวทำให้รัฐขาดทุนถึง 496 บาท และพบว่าปี 51 รัฐขาดทุนจากการแทรกแซงอีก 786 ล้านบาท

ด้านนายธวัชชัย สำโรงวัฒนา รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า คชก.ยังมีมติช่วยเหลือเงินทุนหมุนเวียน อัตราดอกเบี้ย 1% แก่เกษตรชาวสวนลำไยวงเงิน 120 ล้านบาท เพื่อระบายลำไยออกจากพื้นที่เพาะปลูกภาคเหนือ นอกจากนี้ยังอนุมัติวงเงิน จ่ายขาดอีก 60 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าขนส่ง

การอนุมัติเงินกู้หมุนเวียนอัตราดอกเบี้ย 1% แก่กลุ่มเกษตรกร และสหกรณ์ วงเงิน 250 ล้านบาท เพื่อแปรรูปเป็นลำไยสีทอง และอนุมัติวงเงิน 75 ล้านบาท เพื่อระบายลำไยออกต่างประเทศ มาตรการดังกล่าวจะเริ่มตั้งแต่ 1 ก.ค.-20 ส.ค.52

รองปลัดทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังกล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาผลไม้ตกต่ำในระยะยาวว่า จะมีการจัดตั้งกองทุนผลไม้ทั้งระบบในปี 53-57 ใช้งบประมาณ 2 พันล้านบาท และให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้วิจัยการผลิตผลไม้นอกฤดูกาลเพื่อแก้ปัญหาล้นตลาดขณะที่ลำไยเก่าปี 46-47 ปริมาณ 46,000 ตัน อยู่ระหว่างหาวิธีทำลาย โดยอาจไปทำเชื้อเพลิงชีวมวลหรือฝังกลบ ซึ่งจะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาในสัปดาห์หน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ