รมว.คลัง เผยรัฐปูทางปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจยั่งยืนหลังกระตุ้นสั้น-กลาง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 9, 2009 12:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวในงานสัมมนา The 3rd Euromoney Thailand Investment Forum Navigating Uncertainty-Thailand's Path Forward ว่า แผนกระตุ้นเศรษฐกิจทั้ง 2 รอบยังไม่ใช่เป้าหมายในการปฏิรูปโครงสร้างของประเทศอย่างยั่งยืน แต่ขณะนี้สภาพัฒน์กำลังจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 ที่จะมีการกำหนดแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

ในส่วนกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กำลังหารือแนวทางการพัฒนาและเปิดเสรีตลาดเงินตลาดทุน รวมทั้งกำลังพิจารณาเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบเพื่อสร้างความเป็นธรรม การผลักดันการใช้พลังงานทดแทน การพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น

สำหรับการเปิดเสรีภาคการเงินนั้น กระทรวงการคลังพร้อมที่จะพิจารณาตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก

นายกรณ์ กล่าวว่า การที่ดัชนีตลาดหุ้นในขณะนี้ปรับขึ้นมายืนเหนือระดับ 600 จุด เพิ่มจากเดือน พ.ย.51 ที่ระดับ 400 จุด ที่เป็นผลมาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ, ภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาค และผลประกอบการของภาคเอกชน

ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ถดถอยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ การลงทุนและการบริโภคภายในประเทศลดลงมาก ดังนั้น รัฐบาลจึงได้จัดสรรงบกลางปีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน 1 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้ได้จัดสรรเม็ดเงิน 50% ลงไปถึงมือประชาชนแล้ว และขณะนี้กำลังดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสอง ซึ่งจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจรายเดือน ส.ค.-ก.ย.52 ต่อจากนั้นจะเป็นช่วงที่งบประมาณรายจ่ายประจำปี 53 เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีก

รมว.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลมีความจำเป็นต้องจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลต่อเนื่องไปอีก 2 ปี คือ ในปีงบประมาณรายจ่ายประจำปี 53-54 โดยจะรักษาสัดส่วนหนี้สาธารณะไม่ให้เกิน 60% ของจีดีพี ซึ่งรัฐบาลไม่มีปัญหาเรื่องแหล่งเงินทุน แต่มีปัญหาว่าจะนำเงินไปลงทุนด้านใดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว

รัฐบาลมีแผนจะใช้เงินกู้เพื่อลงทุนโครงการจัดการน้ำทั้งระบบ 3 แสนล้านบาท, ลงทุนด้านสาธารณสุข 2 แสนล้านบาท และลงทุนด้านการศึกษาและอื่นๆ อีก 2 แสนล้านบาท เพื่อทำให้เกิดการจ้างงาน 1.5-2 ล้านคน และกระตุ้นให้ภาคเอกชนลงทุนเพิ่มจาก 2% ของจีดีพี เป็น 10% ของจีดีพี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ