กสิกรฯมองส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ผ่านจุดต่ำสุด แต่ฟื้นตัวยังมีปัจจัยเสี่ยง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 9, 2009 13:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทยน่าจะที่จะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.52 และจากนี้ต่อไปการส่งออกน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยอัตราการขยายตัวของมูลค่าส่งออกอาจจะติดลบน้อยลงและน่าจะกลับมาเป็นบวกในช่วงไตรมาสที่ 4

ทั้งนี้ คาดว่าตัวเลขการส่งออกโดยรวมทั้งปี 2552 อาจจะขยายตัวติดลบร้อยละ 10 ถึงติดลบร้อยละ 15(มูลค่าการส่งออกรวมอยู่ที่ประมาณ 27,992-26,437 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยอัตราการเติบโตของมูลค่าส่งออกสินค้าหมวดที่สำคัญ คือ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบอาจหดตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 10 ถึงร้อยละ 15 ขณะที่สินค้าหมวดวงจรไฟฟ้าจะหดตัวประมาณร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 12

อย่างไรก็ตาม แม้โดยรวมภาวะการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ก็ยังมีความเสี่ยงในด้านอื่นๆ ที่ผู้ประกอบการควรคำนึงถึงและเป็นเหตุผลที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าจะทำให้อัตราการขยายตัวของการส่งออกอาจยังคงชะลอตัวอยู่ ประการแรก คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการอุดหนุนการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ประเทศต่างๆ ได้มีการนำมาใช้นั้น เป็นนโยบายชั่วคราวที่ใช้ในระยะสั้นและอาจมีผลจำกัดโดยอาจไม่ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคมากนักในภาวะที่รายได้มีแนวโน้มลดลงและอัตราการว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และในอีกด้านหนึ่งก็อาจไม่ช่วยชดเชยการตกต่ำของยอดขายรวมของบริษัทผู้ผลิตมากนัก เนื่องจากสำหรับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่นั้นการขายในประเทศคิดเป็นสัดส่วนน้อย ดังนั้นแม้ว่ามาตรการของรัฐจะช่วยให้ยอดขายในประเทศกระเตื้องขึ้นแต่ก็อาจไม่สามารถชดเชยการลดลงของยอดขายในต่างประเทศได้ ซึ่งการที่บริษัทข้ามชาติขายสินค้าได้น้อยก็จะส่งผลกับผู้ประกอบการไทยโดยการลดการผลิตและการสั่งซื้อชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ลง

ความเสี่ยงประการที่สองมาจากการปรับโครงสร้าง(Restructuring) ของบริษัทผู้ผลิตข้ามชาติ ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกที่ทำให้บริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าไอทีข้ามชาติระดับโลกหลายบริษัท ประสบกับผลประกอบการขาดทุนและต้องปรับโครงสร้างบริษัทเพื่อลดต้นทุน โดยการปิดโรงงานบางแห่งทั้งในและต่างประเทศ การปลดคนงาน การลดจำนวนซัพพลายเออร์ลงเพื่อที่ว่าจะได้มีอำนาจต่อรองมากขึ้นและซื้อชิ้นส่วนได้ในราคาที่ถูกลงในการสั่งซื้อสินค้าล็อตใหญ่ๆ และการชะลอแผนการลงทุน/ร่วมทุนออกไป ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตและส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไทยที่เป็นเอสเอ็มอี(SME) นอกจากคำสั่งซื้อที่อาจหายไปแล้วยังต้องเผชิญกับการแข่งขันและแรงกดดันด้านราคาที่มากขึ้นอีกด้วย

การปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อันเนื่องมาจากผลของสินค้าคงคลังนั้นเป็นการฟื้นตัวเพียงแค่ชั่วคราว โดยการฟื้นตัวของการส่งออกในระยะยาวขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของอุปสงค์สินค้าขั้นสุดท้าย ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าไอที ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีเพียงตลาดจีนและตลาดใหม่บางประเทศที่ยังพอจะขยายตัวได้

ดังนั้นในด้านการตลาด ผู้ส่งออกควรที่จะมีการกระจายการส่งออกไปยังตลาดอย่างเหมาะสมเพื่อกระจายความเสี่ยง และมองหาโอกาสใหม่ๆ อยู่เสมอ ซึ่งก็รวมไปถึงการใช้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ประเทศต่างๆ มีออกมา การทำตลาดชิ้นส่วนเพื่อการซ่อมแซมหรือทดแทน(Repair & Maintenance) ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งน่าจะยังสามารถเติบโตได้ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การกระจายการขายมาเน้นตลาดในประเทศมากขึ้นเพื่อทดแทนการส่งออกที่หดตัว เช่น ในตลาดการใช้ชิ้นส่วนเพื่อทดแทนการนำเข้าในอุตสาหกรรมอื่น เช่น การต่อเรือ ฯลฯ ในด้านการผลิต

นอกจากการพัฒนาและรักษาคุณภาพของสินค้าซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตควรทำอย่างต่อเนื่อง ผู้ผลิตก็ควรที่จะปรับสายการผลิตให้มีความยืดหยุ่นและปรับปรุงระบบสินค้าคงคลังและโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเพื่อให้สามารถรับคำสั่งซื้อที่เข้ามาได้ทุกเมื่อและเพื่อเป็นการลดต้นทุน ซึ่งการปรับปรุงระบบการผลิต การบริหารและการขนส่งมีความสำคัญมากในภาวะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์(วัตถุดิบและน้ำมัน) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเป็นปัจจัยเสี่ยงอีกประการสำหรับผู้ผลิตและส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวที่อุปสงค์มีน้อยกว่าอุปทานซึ่งทำให้ผู้ผลิตอาจไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต่อไปยังผู้ซื้อได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ