นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เปิดเผยว่า รัฐบาลได้วางเป้าหมายการระดมทุนในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชน(PPP) ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2(SP2)ภายใต้วงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท เพิ่มจาก 2% ของวงเงินลงทุน เป็น 10% ของวงเงินลงทุน หรือ คิดเป็น 1.5 แสนล้านบาท
ที่ประชุมคณะกรรมการ PPP ที่มีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้มอบหมายให้ สบน.จัดทำรายละเอียดและรูปแบบการดำเนินการตามเป้าหมายดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 เดือน หลังจากนั้นจะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการ(work shop) ชี้แจงรายละเอียดและทำความเข้าใจต่อนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
สำหรับรูปแบบการระดมทุนในลักษณะ PPP สามารถดำเนินการได้ทั้ง 3 กลุ่ม คือ กลุ่มสาขาเชิงพาณิชย์ ทั้งด้านพลังงาน การพัฒนาสายการบิน และการสื่อสารโทรคมนาคม กลุ่มสาขาด้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจ ได้แก่ โครงการลงทุนระบบคมนาคมขนส่ง ระบบราง รถไฟ มอเตอร์เวย์ และกลุ่มสาขาด้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสังคม ได้แก่ การสร้างศูนย์การแพทย์ โรงพยาบาล
"โครงการสาขาสังคมเดิมเอกชนไม่ค่อยสนใจมาร่วมลงทุน แต่หากเราเสนอโครงการดีๆ เชื่อว่า เอกชนจะสนใจร่วมลงทุนแน่นอน...หลัง สบน.ทำ Pipe Line เสร็จแล้วใน 2 เดือน ก็จะมีการจัดทำ work shop ให้นักลงทุนในและต่างประเทศ เข้าใจรูปแบบการลงทุนในแบบ PPP ตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง" นายพงษ์ภาณุ กล่าว
ผู้อำนวยการ สบน.กล่าวว่า จะมีการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบ ข้อบังคับ ตาม พ.ร.บ.การเข้าร่วมการงานของภาครัฐและเอกชน พศ.2535 หลังมีการร้องเรียนจากภาคเอกชนถึงความไม่โปร่งใสและเป็นอุปสรรคต่อการได้รับการอนุมัติการร่วมลงทุนของภาคเอกชน นอกจากนี้จะมีการแก้ไข พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ควบคู่กันไปด้วย โดยรูปแบบการนำเสนอโครงการจะเน้นการกระจายความเสี่ยง เน้นการจัดซื้อบริการมากกว่าเป็นการซื้อทรัพย์สิน จากเดิมที่จะเป็นการเสนอในรูปแบบการให้สัมปทานเท่านั้น
ผู้อำนวยการ สบน.กล่าวว่า ตามแผนการกู้เงินของรัฐบาล หลังจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ วงเงิน 4 แสนล้านบาท ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว รัฐบาลจะเริ่มการกู้เงินงวดแรกในช่วงไตรมาส 3 ปีงบประมาณ 52 ในวงเงิน 150,000 ล้านบาท โดยแยกเป็น วงเงิน 120,000 ล้านบาท เพื่อสมทบเข้าเงินคงคลัง เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลได้ต่ำกว่าเป้าหมาย
ส่วนอีก 30,000 ล้านบาทจะใช้ดำเนินการลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง หลังจากนั้นจะเริ่มปีงบประมาณ 53 ตั้งแต่เดือน ต.ค.52 ซึ่งจะมีการกู้เงินเพื่อชดเชยเงินคงคลังอีก 80,000 ล้านบาท และกู้เงินเพื่อลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข็มแข็งอีกไตรมาสละ 50,000 ล้านบาท