นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายและมาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร(คชก.) ได้หารือถึงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ตามโครงการแก้ไขปัญหาการรับจำนำกุ้งปี 52 โดยขอให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนรวมและดำเนินการ เกี่ยวกับเงินที่จะเป็นค่าเด็ดหัวกุ้ง ค่าเช่าห้องเย็นและค่าทำสะอาด แทนองค์การคลังสินค้า (อคส.) โดยจะให้กระทรวงพาณิชย์เข้ามาช่วยเจรจากับภาคเอกชนภายใน 14 วัน ก่อนนำกลับมาเสนอต่อ คชก. อีกครั้ง
"หากยังไม่จบ 100%อาจจะหารืออีก แต่ไม่ว่าจะใช้มาตรการไหนจะต้องดำเนินการให้มีผลกับเกษตรกรอย่างช้าที่สุดภายใน 14 วัน เพราะเราได้ให้คำสัญญากับเขาไว้แล้ว ถ้าทำไม่ได้จริงๆ ตามที่หารือไว้ ก็คงกลับไปใช้วิธีเดิมถ้าไม่มีทางออก เวลานี้กำลังดิ้นว่าทำอย่างไรไม่ให้เสียเงินอีก 300 ล้านบาท"นายกอร์ปศักดิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในส่วนภาระดอกเบี้ย จำนวน 80 ล้านบาท อคส.ยังต้องรับไปดำเนินการ เพียงแต่ต้องการให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนช่วยในส่วนของค่าใช้จ่ายที่สูงถึง 300 กว่าล้านบาท
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวยอมรับว่า ภาคเอกชนไม่ได้ให้ความร่วมมือในโครงการดังกล่าวมากนัก เนื่องจากเห็นว่ากำหนดราคารับจำนำสูง แม้เอกชนจะรับกุ้งไว้ในห้องเย็น แต่โอกาสที่ขายแล้วได้กำไรมีน้อยหรือไม่มีโอกาสขายกุ้งออกได้ ดังนั้นแนวทางที่รัฐบาลจะช่วยเหลือด้านอื่นๆ จะได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เข้าไปช่วยเหลือ กรณีอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากกว่าภาคเอกชนจะขายกุ้งในห้องเย็นได้หมด อาจใช้เวลาถึง 6 เดือน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อต้นทุน ทำให้เกิดการขาดทุนหรือได้กำไรมากกว่าปกติ
นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ หาข้อยุติเรื่องความเสี่ยงในเรื่องราคาขาย วิธีการจัดสรรผลประโยชน์ กรณีหากมีกำไรหรือขาดทุน โดย คชก. ให้ข้อสังเกตว่าแนวทางดำเนินการจะต้องไม่ทำให้ภาครัฐเสียหายเท่ากับวิธีการเดิมๆ