(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค.อยู่ที่ 64.3

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 11, 2009 11:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือน พ.ค.52 อยู่ที่ 64.3 ลดลงจากเดือน เม.ย.52 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 65.1

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 63.8 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 86.2

ส่วนปัจจัยลบ เป็นเรื่องที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)ประกาศอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของไทยไตรมาส 1/52 ติดลบ 7.1%, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, ผู้บริโภคกังวลเสถียรภาพทางการเมือง โดยเฉพาะความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล, การส่งออกในเดือน เม.ย.ติดลบถึง 25.2% และ ประชาชนยังกังวลค่าครองชีพและราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูง

ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 1 สนับสนุนให้เกิดการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ส่งผลจิตวิยาเชิงบวกกับผู้บริโภค , คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.25% ต่อปี , ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุสลายการชุมนุมทางการเมืองและคณะกรรมการสมานฉันท์

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์ฯ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ค.ปรับตัวต่ำสุดในรอบ 89-90 เดือน สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคยังมีความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมือง รวมถึงภาวะเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวในทิศทางที่แย่ลงอย่างต่อเนื่อง และจะส่งผลต่อความกังวลเรื่องภาวะการจ้างงานจะแย่ลงตามภาวะเศรษฐกิจ

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯเชื่อว่า ปัญหาการว่างงาน ยังเป็นปัจจัยบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน และคาดว่าการบริโภคในประเทศจะยังขยายตัวไม่มากนักในขณะนี้ไปจนถึงไตรมาส 3/52

"เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวลงเรื่อยๆ คาดว่าจะฟื้นตัวได้ช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ จากดัชนีหลายตัวที่ลดลงต่อเนื่อง เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ที่รัฐบาลจะต้องกังวลด้วย เพราะดัชนีทุกตัวได้ทำลายสถิติ ลดต่ำลงในรอบกว่า 8 ปี ทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่ชัดเจนในมุมมองผู้บริโภค"นายธนวรรธน์ กล่าว

ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ เสนอแนะว่ารัฐบาลควรกระตุ้นเศรษฐกิจให้เห็นเป็นรูปธรรม ในช่วงไตรมาส 2/52-ไตรมาส 3/52 เป็นต้นไป ควรออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดการจ้างงาน และพยายามทำให้การเมืองมีเสถียรภาพเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยผลักดันให้การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นได้ในช่วงปลายปีนี้

รัฐบาลต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณควบคู่ไปกับ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 4 แสนล้านบาทผ่านสภา และมีการลงทุนให้เกิดขึ้นโดยเร็ว สามารถทำให้เห็นเป็นรูปธรรมในเรื่องเม็ดเงินที่หมุนเวียนสู่ภาคประชาชน จะทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น

แต่รัฐบาลควรต้องเร่งรัดการอัดฉีดเม็ดเงินในช่วงไตรมาส 3/52 เพราะมีแนวโน้มว่า ช่วง 3 เดือนจากนี้ ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อาจถึง 70-80 ดอลลาร์/บาร์เรล และจะส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศปรับขึ้นอีก 4-5 บาท/ลิตร ซึ่งจะเป็นการบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง และการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ทุก 1 บาท/ลิตร จะเป็นการดึงเม็ดเงินออกจากระบบ 2,100 ล้านบาท/เดือน ดังนั้น รัฐบาลควรอัดฉีดเงินงบประมาณ อย่างน้อย 5,000 ล้านบาท/เดือน เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคไม่ให้ลดต่ำลง

"รัฐบาลต้องเร่งอัดฉีดเม็ดเงิน เพราะราคาน้ำมันช่วง 3 เดือนจากนี้ อาจเพิ่มขึ้น 4-5 บาท/ลิตร ซึ่งบั่นทอนความเชื่อมั่นผู้บริโภคให้ลดลง แต่หากรัฐบาลเร่งเบิกจ่าย และนำเม็ดเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท มาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจได้โดยเร็ว ให้มีเงินหมุนเวียนช่วงไตรมาส 3 ก็จะช่วยพยุงความเชื่อมั่นไม่ให้ทรุดต่ำลง" นายธนวรรธน์ กล่าว

นายธนวรรธน์ ยังมองว่า หากรัฐบาลสามารถใช้งบประมาณจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 ตั้งแต่เดือน ส.ค.เป็นต้นไป เชื่อว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ตั้งแต่ไตรมาส 4/52 ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเป็นบวกได้ 3-4% เป็นผลจากเม็ดเงินที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 และสัญญาณการส่งออกที่ขยายตัวดีขึ้น โดยก่อนหน้านี้ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ มองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะหดตัว 3.5-4.5% แต่หากรัฐบาลสามารถใช้งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ การหดตัวของเศรษฐกิจไทยอาจเหลือเพียง 2.5-3.5%

นอกจากนี้ เห็นว่า หาก พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท และงบประมาณประจำปี 53 ผ่านสภาฯ อาจเห็นจุดเปลี่ยนของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้ในเดือน มิ.ย.ที่อาจกลับมาฟื้นตัวได้ ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคอาจหันกลับมาซื้อสินค้าคงทน เช่น รถยนต์เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณให้เห็นการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนอย่างอ่อน ๆ ในช่วงไตรมาส 3/52 และการฟื้นตัวการบริโภคจะเห็นชัดเจนในไตรมาส 4/52


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ