อัลเบอร์โต รามอส นักวิเคราะห์จากโกลด์แมน แซคส์ กรุ๊ป อิงค์ชี้แผนการโยกเม็ดเงินบางส่วนออกจากทุนสำรองต่างประเทศของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ 4 แห่ง ซึ่งได้แก่บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน (BRIC) เพื่อไปซื้อพันธบัตรของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) อาจเป็นอีกช่องทางการแก้ปัญหาด้านตลาดเงิน และหนุนให้ประเทศเหล่านี้มีสิทธิ์มีเสียงในการกำหนดนโยบายของสถาบันการเงินระดับโลกมากขึ้น
รามอสกล่าวว่า "กลุ่มประเทศ BRIC กล่าวว่าพวกเขาเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศความร่วมมือที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กลุ่มอื่นๆ และพวกเขาไม่ได้ต้องการซื้อพันธบัตรไอเอ็มเอฟเพื่อสร้างความหลากหลายในทุนสำรองเงิน แต่ต้องการมีสิทธิ์มีเสียงในตลาดโลกมากกว่า"
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานอ้างการเปิดเผยของกวิโด มันเทก้า รัฐมนตรีคลังบราซิลว่า เมื่อวานนี้รัสเซีย และบราซิลเพิ่งประกาศแผนการซื้อพันธบัตรจากไอเอ็มเอฟมูลค่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และกระจายทุนสำรองเงินต่างประเทศในรูปแบบต่างๆ ขณะที่จีนประกาศจะซื้อพันธบัตร 5 หมื่นล้านดอลลาร์ เช่นเดียวกับอินเดียที่อาจซื้อในจำนวนที่เท่ากับจีน
โดย เหด หย่าเฟย รองรัฐมนตรีต่างประเทศของกระทรวงกิจการต่างประเทศของจีนกล่าวว่า กลุ่มประเทศ BRIC ต้องการมีบทบาทมากขึ้นในสถาบันการเงินระหว่างประเทศเช่นไอเอ็มเอฟ
อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 10 ปีพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เดือนต.ค.หลังจากรัฐบาลประกาศขายหลักทรัพย์ 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์ และมีข่าวว่ารัสเซียอาจนำตราสารหนี้ของสหรัฐไปซื้อพันธบัตรของไอเอ็มเอฟ
ทั้งนี้ ปัจจุบันสหรัฐเป็นประเทศที่มีสิทธิ์ออกเสียงในไอเอ็มเอฟมากถึง 16.77% ส่วนจีนมีอยู่ 3.66% รัสเซีย 2.69% อินเดีย 1.89% และบราซิล 1.38%