นายกรณ์ จาติกวนิช รมว.คลัง กล่าวว่า เมื่อพิจารณาโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยแล้วเห็นว่าการใช้นโยบายเงินบาทอ่อนค่าจะดีกว่าแข็งค่า เพราะจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการจำนวนมาก อีกทั้งมีผลต่อการจ้างงานและความสามารถในการส่งออกสินค้า
แต่นโยบายเงินบาทอ่อนก็ควรทำในระยะสั้นเท่านั้น เพราะถ้าทุกประเทศต่างใช้นโยบายเงินอ่อนค่าเช่นเดียวกันก็คงจะไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด ดังนั้น สิ่งสำคัญคือจะต้องหันมาเพิ่มมูลค่าให้กับตัวสินค้ามากกว่า ส่วนเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนนั้นถือเป็นประเด็นรองลงมา
รมว.คลัง กล่าวว่า ธปท.ได้รายงานสถิติอัตราแลกเปลี่ยนโดยเก็บข้อมูลจากหลายประเทศ พบว่าหลายประเทศที่ใช้นโยบายเงินอ่อนค่านั้นไม่ได้ช่วยให้การส่งออกขยายตัวมากขึ้น หรือ การที่ค่าเงินแข็งค่าก็ไม่ได้ทำให้การส่งออกลดลงเสมอไป แต่ทั้งนี้มองว่าค่าเงินเป็นเรื่องของความรู้สึกมากกว่า เพราะผู้ประกอบการส่งออกเชื่อว่าเงินบาทอ่อนค่าจะทำให้ขายสินค้าได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)มีอิสระอย่างเต็มที่ในการดำเนินนโยบายด้านอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่ง ธปท.ถือเป็นหน่วยงานที่มีความเป็นอิสระมากที่สุดเมื่อเทียบกับแบงก์กลางอีกหลายประเทศ
ขณะที่กระทรวงการคลังสามารถช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าได้จากที่มีโครงการลงทุนต่างๆ โดยการนำเงินกู้ในประเทศที่เป็นเงินบาทไปซื้อสินค้าทุนจากต่างประเทศ จากเดิมที่มักกู้เงินต่างประเทศเพื่อซื้อสินค้าต่างประเทศ
"รัฐบาลมีโครงการลงทุน 1.5 ล้านล้านบาท ส่วนหนึ่งต้องมีการซื้อสินค้าทุนจากต่างประเทศ แทนที่เราจะกู้ต่างประเทศเป็นดอลลาร์ เราก็ใช้เงินกู้ในประเทศที่เป็นเงินบาท และเมื่อจะซื้อสินค้า เราก็ขายเงินบาทซื้อดอลลาร์นำไปซื้อเครื่องจักร สินค้าทุนต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้บาทอ่อนค่าได้ในส่วนหนึ่ง" รมว.คลัง ระบุ