ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองราคาน้ำมัน-สินค้าสูงขึ้น กดดันเงินเฟ้อ-ศก.ไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 15, 2009 12:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า การปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์อย่างรวดเร็วในตลาดโลกส่งผลกระทบที่สำคัญหลายด้านต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯและไทย โดยการปรับขึ้นของราคาน้ำมันเหนือระดับ 70 ดอลลาร์/บาร์เรล ได้กระตุ้นให้เกิดความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อ ที่ส่งผลต่อเนื่องให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะ 10 ปี พุ่งขึ้นใกล้ระดับสำคัญทางจิตวิทยาที่ 4.00% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยก็ปรับตัวเข้าใกล้ระดับ 4.20% ด้วยเช่นกัน

การปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของแรงกดดันเงินเฟ้อ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรดังกล่าว มีนัยสำคัญต่อทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของทั้งสหรัฐฯ และไทยในรูปแบบที่มีความคล้าย จากพัฒนาการของเครื่องชี้ที่สำคัญของเศรษฐกิจ ที่เริ่มสะท้อนสัญญาณที่มีเสถียรภาพมากขึ้น และบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจอาจผ่านพ้นช่วงระยะเวลาที่แย่ที่สุดแล้ว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจของสหรัฐในระยะถัดไปอาจปรับตัวสะท้อนสัญญาณการฟื้นตัวมากขึ้น โดยเงินเฟ้อและการคาดการณ์เงินเฟ้อจะกลายมาเป็นประเด็นสำคัญที่มีน้ำหนักมากขึ้นต่อการดำเนินนโยบายการเงิน และหนุนให้ตลาดการเงินปรับตัวรับการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)

ขณะที่นโยบายการคลัง ภาระหนี้สาธารณะและการขาดดุลการคลังในระดับสูงของสหรัฐ กำลังสร้างความเสี่ยงให้กับอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐ อาจทำให้ทางการสหรัฐฯ ต้องส่งสัญญาณเพิ่มความเข้มงวดให้กับมาตรการทางด้านการคลังมากยิ่งขึ้น และหากเศรษฐกิจสหรัฐทยอยส่งสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น โดยคาดว่าแรงกระตุ้นจากมาตรการภาครัฐก็อาจเริ่มชะลอตัวลงตั้งแต่ช่วงปีงบประมาณ 53

ส่วนกรณีของไทย แรงกดดันเงินเฟ้อและปัญหาการคลังอาจสร้างแรงกดดันต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะถัดไปเช่นกัน โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐจะส่งผลต่อตลาดพันธบัตรไทย รวมไปถึงปัจจัยภายในที่สะท้อนได้จากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ แนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อ และสภาวะอุปทานของพันธบัตรรัฐบาลไทย ขณะที่อันดับความน่าเชื่อถือของไทยที่อยู่ระดับต่ำกว่าอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของรัฐบาลไทยมักจะปรับตัวในระดับที่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ

ดังนั้น ระยะถัดไปตลาดพันธบัตรของไทยอาจยังคงถูกกระทบจากปัจจัยกดดันทั้งภายในและภายนอกอย่างต่อเนื่อง และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง คือ การปรับตัวสูงขึ้นของต้นทุนการระดมเงินของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยสภาพคล่องของตลาดพันธบัตรของไทยอาจทยอยตึงตัวมากขึ้นจากปริมาณอุปทานตราสารหนี้ของทั้งภาครัฐ และเอกชนที่เพิ่มสูงขึ้น

ประกอบกับ แนวโน้มการพลิกกลับมาขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงปี 53 แม้จะเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำกว่าระดับศักยภาพ และการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ ก็อาจทำให้ตลาดการเงินในช่วงครึ่งหลังของปี 52 เริ่มปรับตัวไปในทิศทางที่คาดการณ์ว่าจะมีการทยอยปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงกลางปี 53 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ

จากข้อจำกัดด้านแนวโน้มขาขึ้นของเงินเฟ้อและฐานะการคลังที่อ่อนแอของรัฐบาล จากหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูง อาจทำให้การดำเนินนโยบายการเงินและการคลังของไทยเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงปี 53 อาจมีระดับที่ลดน้อยลงเมื่อเทียบกับปี 52 ขณะที่การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ซึ่งอาจจะยังไม่ให้น้ำหนักกับผลกระทบจากการปรับขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาน้ำมันมากนักในขณะนี้ อาจต้องเตรียมตัวรับมือกับแรงกดดันเงินเฟ้อ ซึ่งจะกลับมาในช่วงจังหวะเวลาเดียวกันกับที่เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงแรกเริ่มของการฟื้นตัว

ดังนั้น บทบาทของตัวแปรหลักที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยในปี 53 ขยายตัวได้ อาจต้องพึ่งพาการส่งออกและการใช้จ่ายภายในประเทศเป็นหลัก แม้ว่าการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก อาจช่วยหนุนให้การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยฟื้นกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในปีหน้า แต่ขณะเดียวกันก็อาจจะต้องประเมินความสามารถในการแข่งขันจากค่าเงินบาทประกอบไปด้วย

ส่วนแรงหนุนจากการใช้จ่ายภายในประเทศนั้น ประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือ แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่อาจจะบดบังกำลังซื้อของประชาชนในประเทศในยามที่เศรษฐกิจต้องการแรงผลักดันจากภาคเอกชนในประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ