ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เตือนรัฐคุมกรอบกู้ฯ 8 แสนลบ.ห่วงก่อหนี้เพิ่มในอนาคต

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 15, 2009 15:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ตั้งข้อสังเกตว่าการใช้ช่องทางกฎหมายกู้เงินฉุกเฉินสองฉบับที่เสนอเข้าสู่สภาผู้แทนฯในวันนี้ เอื้อให้รัฐบาลสามารถเลี่ยงข้อจำกัดเพดานการก่อหนี้ตามกฎหมายปกติ แต่การดำเนินการผ่านช่องทางดังกล่าว อาจมีความแตกต่างไปจากการดำเนินการในอดีต เพราะรัฐบาลได้ขอกู้เงินตามร่าง พ.ร.ก.และร่าง พ.ร.บ. ก่อนที่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณหลักในปีงบประมาณ 53-55 จะถูกนำเสนอต่อสภา

ดังนั้น จึงต้องหวังว่าการกู้เงินตามกฎหมายฉุกเฉินทั้งสองฉบับนี้จะไม่ถูกขยายขอบเขตการกู้เงินหรือมีการขอวงเงินเพิ่มเติมอีกในอนาคต มิฉะนั้นแล้วโอกาสที่หนี้สาธารณะของประเทศจะขยับสูงเกิน 60% ของจีดีพีจนกระทั่งส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลัง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อนึ่ง วันนี้รัฐบาลนำร่าง พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจวงเงิน 4 แสนล้านบาท และร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 4 แสนล้านบาท เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การออกกฎหมายการเงินทั้งสองฉบับเป็นการรองรับฐานะเงินคงคลังจากการที่รัฐบาลจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 52 ได้ต่ำกว่าเป้าหมาย และจะนำไปใช้เป็นวงเงินเพื่อใช้ลงทุนตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2(SP2) ซึ่งเป็นการสะท้อนว่ารัฐบาลมีรายละเอียดของแผนการลงทุนและแหล่งเงินทุนที่จะนำมาใช้ที่ค่อนข้างแน่ชัดและเป็นรูปธรรมในระดับหนึ่ง ซึ่งหากกฎหมายกู้เงินฉุกเฉินดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ รวมถึงกระบวนการทางกฎหมายเป็นที่เรียบร้อยได้ ก็จะเป็นการยืนยันว่าแผนการลงทุนตามโครงการ SP2 คงจะสามารถเดินหน้าต่อไปจนสำเร็จลุล่วงได้ไม่ว่าอายุของรัฐบาลชุดนี้จะยาวนานเพียงใด

นอกจากผลกระตุ้นต่อเศรษฐกิจแล้ว การดำเนินการตามแผนของรัฐบาล จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน และนำมาสู่การขยายการลงทุนของภาคเอกชนตามมา

สำหรับขนาดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมจากภาครัฐระหว่างปีงบประมาณ 53-55 ต้องคำนึงถึงทั้งผลจากการใช้จ่ายผ่านเงินงบประมาณตามกรอบกฎหมายที่ตั้งไว้ และผลจากการใช้จ่ายเงินเพื่อการลงทุนในโครงการ SP2 จากวิธีการกู้เงินฉุกเฉิน ซึ่งประเมินว่าจะมีการกู้เงินโดรวมประมาณ 6 แสนล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 2 แสนล้านบาท (การกู้เงินตามร่าง พ.ร.ก. 2 แสนล้านบาทแรก ใช้เงินเพื่อรักษาฐานะเงินคงคลัง ในปีงบประมาณ 52)

การกู้เงินของรัฐบาลในปีงบประมาณ 53-55 จะต้องคำนึงถึงการกู้ตามกรอบวงเงินงบประมาณหลัก บวกกับการกู้ตามร่าง พ.ร.ก. และร่าง พ.ร.บ.นี้ด้วย ดังนั้น ในปีงบประมาณ 53 แม้กรอบงบประมาณรายจ่ายลดลงเหลือ 1.7 ล้านล้านบาทแต่เมื่อรวมการกู้เงินเพิ่ม จะส่งผลให้การใช้จ่ายรวมจากภาครัฐมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งลดลงไม่มากนักเมื่อเทียบกับกรอบงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 52

อย่างไรก็ตาม การระดมเงินกู้ภาครัฐเพิ่มเติมอีกเฉลี่ยไตรมาสละ 5 หมื่นล้านบาท หรือปีงบประมาณละ 2 แสนล้านบาทในช่วงปีงบประมาณ 53-55 จะทำให้สภาพคล่องในระบบการเงินทยอยถูกระบายออกไปในช่วงแรก แต่การที่รัฐบาลจะนำเงินไปใช้ลงทุนในโครงการ SP2 ซึ่งเป็นโครงการที่มีสัดส่วนการซื้อสินค้าและบริการจากในประเทศ รวมถึงการจ้างแรงงานในประเทศกว่า 2 ใน 3 ของวงเงินลงทุน ก็น่าที่จะส่งผลให้มีสภาพคล่องบางส่วนทยอยไหลกลับเข้าสู่ระบบในระยะถัดๆ ไป

และ ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่ความต้องการระดมเงินจากภาคเอกชนยังมีจำกัด รวมทั้งสภาพคล่องที่ธนาคารพาณิชย์ไทยยังคงมีอยู่สูงถึงกว่า 1 ล้านล้านบาท การเตรียมวางแผนกู้เงินของรัฐบาลที่ไม่กระจุกตัวหรือหนาแน่นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งก็น่าที่จะช่วยให้การระบายสภาพคล่องออกจากระบบดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินมากเท่าที่กังวล

แต่จากการกู้เงินดังกล่าวทำให้การก่อหนี้ภาครัฐเพิ่มขึ้น โดยจะทำให้หนี้สาธารณะปรับสูงขึ้นไปถึง 60-61% ต่อจีดีพีในปี 56 จากปัจจุบันที่อยู่ 40.97% และแม้หนี้สาธารณะอาจมีแนวโน้มเลยจากกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ไม่เกิน 50% ของจีดีพี แต่หากเศรษฐกิจได้รับการเยียวยาให้สามารถฟื้นกลับมาขยายตัวในอัตราการเติบโตที่ระดับศักยภาพได้ตามที่คาดหวัง รัฐบาลก็น่าจะสามารถบริหารจัดการหนี้สาธารณะที่ระดับดังกล่าวให้ทยอยปรับลดลงและไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังในระยะยาวได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ