กองทุนบำนาญของญี่ปุ่นจ่อขายพันธบัตรรัฐบาลปีนี้ หวังระดมทุนจ่ายเงินผู้เกษียณอายุมากขึ้น

ข่าวต่างประเทศ Tuesday June 16, 2009 16:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กองทุนบำนาญของญี่ปุ่น ซึ่งมีเม็ดเงินสำรองมากที่สุดในโลกราว 120 ล้านล้านเยน (1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) เปิดเผยว่า บริษัทอาจขายพันธบัตรรัฐบาลของญี่ปุ่นในปีนี้เพื่อระดมทุนในการจ่ายเงินให้กับประชาชนวัยเกษียณมากขึ้น

ทากาชิโร่ กาวาเสะ ประธานกองทุนการลงทุนเงินบำเน็จบำนาญข้าราชการ (GPIF) ซึ่งเป็นผู้ซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นรายใหญ่ที่สุดกล่าวว่า ทางกองทุนจะไม่รับเงินจากรัฐบาลเพิ่มเติม หลังจากที่ทางกองทุนดำเนินงานอย่างอิสระในปี 2549

"จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญสำหรับเราในปีนี้คือเรายังไม่มีเงินก้อนใหม่ๆมาใช้ในการลงทุน ดังนั้นเราอาจต้องขายพันธบัตรรัฐบาลออกไปเพื่อนำเงินที่ได้มาใช้เป็นส่วนแบ่งของกองทุนบำนาญ" กาวาเสะกล่าว "ปริมาณพันธบัตรของเรามีอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นเราจำเป็นต้องลดปริมาณพันธบัตรลงเพื่อเพิ่มเม็ดเงินหมุนเวียนมากขึ้น"

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า จากภาวะซบเซาในตลาดพันธบัตรของญี่ปุ่น ทำให้ยอดขายกองทุนลดลงในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังมีกระแสคาดการณ์ว่า ปริมาณเงินหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นจะทำให้นักลงทุนชะลอการซื้อหลักทรัพย์ ซึ่งการส่งคำสั่งซื้อขายในตลาดที่ซบเซาจะยิ่งเป็นอุปสรรคต่อกองทุนในการกระตุ้นผลกำไรเพื่อใช้ตอบแทนนักลงทุน หลังจากที่เคยขาดทุน 5.7 ล้นล้านเยนในไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ GPIF จำเป็นต้องกระตุ้นผลการลงทุนให้ดีขึ้นเพื่อรองรับวิกฤตประชากรวัยสูงอายุที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วในญี่ปุ่น ขณะเดียวกัน รัฐบาลประเมินว่า ในปี 2568 จะมีประชากรวัยกษียณ 25% พึ่งเงินจากกองทุนบำนาญ

ทั้งนี้ กองทุนบำนาญของญี่ปุ่นจัดสรรเงินเพื่อกระจายการลงทุนในตลาดต่างๆแตกต่างกันไป โดยส่วนใหญ่จะนำเงินทุน 76% ไปลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศ ขณะที่ 9.5% นำไปลงทุนในตลาดหุ้น และ 7.8% นำไปลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ ขณะที่การลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศมีสัดส่วนอยู่ที่ 6.7%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ