นายคณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) กล่าวในหัวข้อ"วิกฤติเศรษฐกิจโลกและแนวโน้มในครึ่งปีหลัง"การสัมมนา"Financiial Situation to The Current Economic Crisis"ว่า เศรษฐกิจน่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 8 ไตรมาสนับจากไตรมาส 4/51 ที่จะฟื้นตัวกลับมาเติบโตในระดับปกติ 3% ต่อปีได้
สำหรับปีใน 52 คาดว่าเศรษฐกิจจะยังติดลบในระดับ 3.5% โดยช่วงไตรมาส 2-3/52 เศรษฐกิจคงจะติดลบไตรมาสละประมาณ 5% ส่วนไตรมาสที่ 4/52 เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวเป็นบวกประมาณ 2% แต่ทั้งปีก็จะยังติดลบ แม้ว่าจะมีการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ แต่ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณเลวร้ายหรือบวกมากนัก
ผู้อำนวยการ สวค. กล่าวอีกว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้ขึ้นอยู่กับเม็ดเงินกระตุ้นจากภาครัฐว่าจะสามารถเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะแรกจากการจัดทำงบประมาณกลางปี 1.167 แสนล้านบาท พบว่าขณะนี้ยังมีการเบิกจ่ายได้เพียง 49% ทำให้มีผลต่อการเติบโตเศรษฐกิจได้ไม่ถึง 1% ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 คงต้องอาศัยการเร่งให้เม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเร็วขึ้นกว่าที่ผ่านมา
"เศรษฐกิจไทยตอนนี้จะโตได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการนำเงินไปกระตุ้นเศรษฐกิจ ตอนนี้เรากำลังฟื้นตัว ใกล้จุดต่ำสุดแล้ว ซึ่งจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท วงเงิน 2 แสนล้านบาท ชัดเจนว่าจะนำไปชดเชยเงินคงคลัง อีก 2 แสนล้านบาท เป็นเงินลงทุน ตอนนี้ยังไม่เห็นว่าเงินจะเข้าไปตรงไหนบ้าง...ช่วงนี้ยอมรับว่าเศรษฐกิจซึมๆ มากกว่า" ผู้อำนวยการ สวค. กล่าว
อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการ สวค.ประเมินว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเซียจะเร็วกว่าการฟื้นตัวของทางฝั่งสหรัฐและยุโรป โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6-7 เดือนนับจากนี้ เนื่องจากในเอเชียไม่ค่อยมีปัญหาในภาคสถาบันการเงิน ประกอบกับ การดำเนินนโยบายของจีนได้ส่งผลดีต่อเอเซียด้วย ขณะที่การฟื้นตัวของสหรัฐคาดว่าต้องใช้เวลาอีก 12 เดือน
ด้านนายศุภกร สุนทรกิจ รองกรรมการผู้จัดการ บลจ.เอ็มเอฟซี (MFC)คาดว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะหดตัว 3.78% โดยคาดว่าจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทยจะอยู่ที่ไตรมาส 3/52 และเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นในไตรมาส 4/52 แต่ขณะนี้เริ่มมีสัญญาณของการปรับขึ้นราคาน้ำมันและเงินบาทแข็งค่า ซึ่งจะกระทบต่อภาคการส่งออกละอัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นได้ ดังนั้นหากสามารถควบคุมให้เงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 1-2% จะยังไม่เป็นปัญหาต่อเศรษฐกิจ ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล คาดว่าจะเริ่มเห็นผลชัดเจนในช่วงไตรมาส 3/52
อย่างไรก็ตาม รองกรรมการผู้จัดการ MFC เตือนให้ระวังปัญหาการเมืองอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอีกรอบในช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค.นี้ ที่อาจเกิดความตึงเครียดขึ้นอีกครั้งในช่วงของการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ดังนั้น รัฐบาลจะต้องดูแลในการรักษาเสถียรภาพทางการเมืองเพื่อไม่ให้กระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจด้วย