นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)กล่าวว่า ในระยะ 3 ปีข้างหน้าหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจผ่านพ้นไปแล้ว รัฐบาลจะต้องมีการปฏิรูปวินัยการเงินการคลัง โดยการปฏิรูปโครงสร้างภาษีทั้งระบบ ซึ่งปัจจุบันระบบภาษียังมีช่องโหว่อีกมากที่ต้องแก้ไข รวมทั้งปฏิรูปการใช้จ่ายของรัฐบาลให้เข้มงวดมากขึ้น เพื่อให้ภาระหนี้สาธารณะกลับมาอยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลัง หลังจากที่ต้องกู้เงินจำนวนมากมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ
"หลังจากนี้หนี้สาธารณะจะขึ้นไปถึง 60%ของจีดีพี แต่ใน 3-4 ปีข้างหน้าจะต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างภาษีและการใช้จ่ายภาครัฐ เพื่อให้รัฐบาลมีรายได้และมีเงินชำระหนี้ ลดภาระหนี้สาธารณะให้อยู่ในกรอบความยั่งยืน แต่ยังกังวลว่าหากเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวตามที่คาดไว้จะมีวิธีการใดที่จะลดหนี้สาธารณะ เพราะตอนนี้ยังไม่มีแผน 2 รองรับเรื่องนี้" ผู้อำนวยการ สบน. กล่าวในหัวข้อ"มาตรการภาครัฐต่อการฟื้นฟูวิกฤติเศรษฐกิจของไทย"ในการสัมมนา"Financiial Situation to The Current Economic Crisis"
ผู้อำนวยการ สบน.กล่าวว่า หลัง พ.ร.ก. และ พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจวงเงินรวม 8 แสนล้านบาทผ่านความเห็นชอบจากสภาฯแล้ว รัฐบาลจะสามารถดำเนินการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งปี 55 ที่มีวงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งจะมีการกู้เงินจำนวนมากผ่านตลาดเงินและสถาบันการเงิน โดยจะพยายามบริหารไม่ให้กระทบต่อสภาพคล่องและทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดให้เกิคความผันผวนและอาจจะกระทบต่อการระดมทุนของภาคเอกชน
ทั้งนี้ สบน.จัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งแล้ว โดยรัฐบาลอนุมัติโครงการที่พร้อมเดินหน้าทันทีหลังการเปิดประมูล วงเงินรวมประมาณ 1.06 ล้านล้านบาท ส่วนวงเงินที่เหลืออีกประมาณ 4-5 แสนล้านบาทจะมีการพิจารณาโครงการ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)กลางเดือน ก.ค.หลังจากนั้นจะมีการเสนอกรอบการใช้จ่ายเงินรายงานต่อสภาฯ ต่อไป
อย่างไรก็ตาม แนวทางการลงทุนของรัฐบาลตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ส่วนหนึ่งจะดำเนินการในลักษณะการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน(Public Private Partnership:PPP)ในสัดส่วน 10% ของโครงการลงทุนเป็นวงเงินกว่า 1.5 แสนล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดรายละเอียด รูปแบบโครงการลงทุน การแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ให้เอื้อต่อการลงทุนดังกล่าว ซึ่งจะแล้วเสร็จใน 1-2 เดือน
สำหรับโครงการลงทุนในลักษณะ PPP จะแยกเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มการลงทุนเชิงพาณิชย์ เช่น โครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 และกลุ่มสื่อสาร พลังงาน กลุ่มที่ 2 เป็นโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เช่น การก่อสร้างรถไฟฟ้า โครงการทางหลวงพิเศษต่อขยายมอเตอร์เวย์ และรถไฟรางคู่ กลุ่มที่ 3 เป็นโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม เช่น การศึกษา สุขภาพ ซึ่งรัฐบาลต้องมีภาระผูกพันในงบประมาณในอนาคต
นายคณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) กล่าวว่า แผนการกู้เงินของรัฐบาลอีก 1.5 ล้านล้านบาทเพื่อใช้ในโครงการลงทุนต่างๆ แม้จะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็น 60% แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาที่น่ากังวล เพราะถือเป็นความจำเป็นที่หลายประเทศก็ได้ดำเนินการ แต่สิ่งสำคัญคือเมื่อรัฐบาลมีการกู้เงินแล้วจะนำไปลงทุนในโครงการใดบ้าง ซึ่งยังไม่มีความชัดเจน ดังนั้น ปัญหาจึงอยู่ที่การบริหารจัดการเงินลงทุนมากกว่า
ด้านนายพิชิต อัครทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.เอ็มเอฟซี (MFC) กล่าวว่า เครื่องมือในการระดมทุนของภาครัฐอาจจัดตั้งขึ้นมาในลักษณะกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน(Infrastructure Fund) ซึ่งหลายประเทศมีการดำเนินการในลักษณะนี้ ซึ่งนอกจากจะเป็นทางเลือกใหม่ในการลงทุนของนักลงทุนแล้ว ประชาชนยังได้รับประโยชน์จากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลดำเนินการ
อย่างไรก็ตาม การลงทุนใน Infrastructure Fund จะเป็นการลงทุนระยะยาว ซึ่งอาจจะมีความเสี่ยงมากกว่าพันธบัตรแต่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ขณะที่การลงทุนใน Venture Capital จะมีผลตอบแทนที่สูงแต่ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน ดังนั้น การจัดตั้ง Infrastructure Fund รัฐบาลจะต้องมีการแก้ไขกฎระเบียบและข้อจำกัดต่างๆ ที่เอื้อต่อการลงทุน และสร้างความเชื่อมั่นในการเข้ามาลงทุนด้วย
"กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน จะคล้ายกับกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งนักลงทุนจะได้ผลตอบแทนในระยะยาว ที่มีเสถียรภาพ ใกล้เคียงการลงทุนในหุ้นกู้ อาจจะเหมาะกับผู้ที่ต้องการลงทุนระยะยาว เช่น พวกประกันชีวิต กองทุนประกันสังคม ที่เน้นการลงทุนระยะยาว" นายพิชิต กล่าว