นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้อำนวยการสำนักนโยบายความเสี่ยง ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่า ตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับที่ 2(มาสเตอร์แพลน 2) มีการปรับปรุงรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลสถาบันการเงินตามที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF)และธนาคารโลก เสนอแนะ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินปี 51 มีการกำหนดกลไก ในการบริหารจัดการสินทรัพย์รอการขาย(NPA)และสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)ในระบบ และมีเกณฑ์กำกับดูแลสถาบันการเงินให้เข้มแข็งมากขึ้น
"เช่น การให้อำนาจ ธปท.ช่วยสถาบันการเงินกรณีที่มีเหตุการณ์ฉุกเฉิน กรณีสถาบันการเงินมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงหรือบีไอเอสต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด ธปท.จะเข้าไปควบคุมดูแลธุรกิจของสถาบันการเงิน เพื่อให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น สร้างกลไกลดปัญหา NPA- NPLในระบบ"นายสมบูรณ์ กล่าว
นอกจากนี้ ตามมาสเตอร์แพลน 2 ยังเปิดโอกาสให้ธนาคารพาณิชย์สามารถร่วมทุนกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์เพื่อพัฒนา NPA และ NPLที่มีอยู่ในระบบธนาคารพาณิชย์ได้ด้วยการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน โดยธนาคารพาณิชย์ต้องถือหุ้นไม่เกิน 50% เพื่อไม่ให้กระทบฐานะเงินกองทุน การตั้งสำรอง และการจ่ายเงินปันผล และคาดว่าหากธนาคารพาณิชย์แก้ปัญหา NPA-NPLในระบบได้เป็นจำนวนมากจะทำให้มีเงินปล่อยสินเชื่อมากขึ้น
ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 1/52 ธนาคารพาณิชย์มี NPLในระบบประมาณ 225,000 ล้านบาท NPA ประมาณ 145,000 ล้านบาท
นายสมบูรณ์ กล่าวอีกว่า เกณฑ์กำกับดูแลสถาบันการเงินที่ ธปท.ดำเนินการไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม เพราะการออกกฏระเบียบของ ธปท.ที่ผ่านมามีการระดมความคิดเห็นกับผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ
ขณะที่การประเมินของไอเอ็มเอฟและธนาคารโลกตามโครงการไฟแนนซ์เชียล เซ็คเตอร์ แอสเซสเมนท์ โปรแกรม ระบุว่า กฎเกณฑ์ที่ ธปท.ประกาศใช้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลทั้งในเรื่องการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ ความโปร่งใสในการดำเนินนโยบายการเงิน ระบบการชำระเงิน การกำกับดูแลตลาดทุน และการชำระดุลหลักทรัพย์