(เพิ่มเติม) พาณิชย์เผย พ.ค.ส่งออกลด 26.6% นำเข้าลด 34.7% เกินดุลฯ 2.4 พันล้านดอลล์

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 19, 2009 12:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกในเดือน พ.ค.52 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 26.6% คิดเป็นมูลค่า 11,656 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การนำเข้าลดลง 34.7% คิดเป็นมูลค่า 9,251 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ในเดือน พ.ค.52 เกินดุลการค้า 2,405 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ เป็นการหดตัวของการส่งออกต่อเนื่องจากเดือน เม.ย.52 ที่การส่งออกลดลง 26.1% ขณะที่การนำเข้าหดตัวน้อยลงจากที่ติดลบ 36.3% ในเดือน เม.ย.52

สำหรับการส่งออกในเดือนพ.ค.52 พบว่าการส่งออกลดลงในทุกหมวดสินค้า โดยหมวดสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตร ลดลง 26.9% สินค้าที่ส่งออกลดลงมากได้แก่ ข้าว, อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป, หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ลดลง 25.2% สินค้าที่ส่งออกลดลงมากได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์, เครื่องใช้ไฟฟ้า, ยานยนต์, ผลิตภัณฑ์พลาสติก, สิ่งทอ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น และหมวดสินค้าอื่นๆ ลดลง 31.6%

ด้านการนำเข้าในเดือนพ.ค.52 พบว่าไทยนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงลดลง 24.9% นำเข้าสินค้าทุนลดลง 23.3% นำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปลดลง 45.6% นำเข้าสินค้อุปโภคบริโภคลดลง 15.8% และนำเข้าสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ ลดลง 44%

ส่วนตลาดส่งออกนั้น พบว่าตลาดหลักยังลดลงต่อเนื่องจากปลายปี 51 โดยลดลง 34.5% ขณะที่ตลาดใหม่แม้การส่งออกจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย แต่ยังลดลง 17.8% โดยตลาดส่งออกหลักที่ลดลงต่อเนื่อง ได้แก่ อาเซียน ลด 36.2%, ญี่ปุ่น ลดลง 35.7%, สหภาพยุโป ลดลง 35.2% และสหรัฐฯ ลดลง 29.9%

ในขณะที่ช่วง 5 เดือนแรกปีนี้(ม.ค.-พ.ค.52) มียอดการส่งออก 55,873 ล้านดอลลาร์ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 22.9% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 45,817 ล้านดอลลาร์ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 36.8% ส่งผลให้ช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ไทยยังเกินดุลการค้า 10,054 ล้านดอลลาร์

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ยอมรับว่า การส่งออกทั้งปี 52 อาจจะติดลบราว 15-19% จากเดิมที่คาดไว้ว่าจะโต 0-3% แต่จะพยายามให้ติดลบน้อยที่สุด โดยเชื่อว่าตั้งแต่ไตรมาส 4/52 การส่งออกจะเริ่มฟื้นตัวกลับมาเป็นบวกได้จาก 4 ปัจจัยสำคัญ คือ เศรษฐกิจโลกคงจะไม่ลดต่ำไปกว่านี้, นโยบายและมาตรการของประเทศต่างๆ ที่กระตุ้นอำนาจซื้อของประชาชนจะเริ่มมีผลเร่งรัดให้ความต้องการสินค้ามีมากขึ้น, แนวโน้มความผันผวนของราคาสินค้าเริ่มลดน้อยลง และมาตรการรุกตลาดส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ผ่านโครงการต่างๆ

อย่างไรก็ดี ปัจจัยลบที่ยังมีผลต่อการส่งออกของไทยยังมีอยู่ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ยากต่อการควบคุม คือ แนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปลายปี และปัจจัยเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน

นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่า การส่งออกเดือนพ.ค.ที่ยังติดลบอยู่ในระดับสูงที่ 26.6% มาจากปัจจัยที่สำคัญ 3 ประการ คือ ความต้องการสินค้าจากทั้งตลาดหลักและตลาดใหม่ของไทยยังไม่ดีขึ้น, สภาพคล่องทางการเงินของผู้นำเข้าที่จะนำไปใช้หมุนเวียนเพื่อสั่งซื้อสินค้าใหม่ยังมีไม่มาก ซึ่งสถาบันการเงินยังเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงปัจจัยจากราคาสินค้าในตลาดโลกปีนี้ต่ำกว่าปีก่อนทั้ง ข้าว, มันสำปะหลัง, ยางพารา, น้ำมัน, เหล็ก เป็นต้น

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการส่งออกจะพยายามเร่งรัดการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้อย่างเต็มที่ภายใต้โครงการทั้งหมด 692 โครงการ ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วถึง 85% ทั้งนี้เพื่อเป็นการผลักดันการส่งออกไปยังตลาดใหม่ รวมถึงรักษาฐานลูกค้าในตลาดเดิมไว้ นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์จะเร่งหารือกับกระทรวงการคลังเรื่องภาษีมุมน้ำเงินเพื่อให้ช่วยลดภาระภาษีนำเข้าให้แก่ภาคอุตสาหกรรมที่นำเข้าวัตถุดิบมาผลิตเพื่อส่งออก เช่น กลุ่มรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า จากปัจจุบัน 40% ให้เหลือ 3%

อย่างไรก็ดี สถานการณ์การส่งออกของประเทศต่างๆ ในเดือนพ.ค.52 พบว่าส่วนใหญ่ยังคงมีอัตราการส่งออกที่ลดลง เช่น จีน ลดลง 26.3%, ไต้หวัน ลดลง 31.4%, เกาหลีใต้ ลดลง 28.5%, ญี่ปุ่น 41%, สิงคโปร์ ลดลง 25.7% และเวียดนาม ลดลง 14.6% เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ