ธปท.ศึกษาข้อตกลงชำระค่าสินค้าเป็นสกุลเงินท้องถิ่น-ลดค่าธรรมเนียม hedging

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 19, 2009 17:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า ธปท.กำลังศึกษาแนวทางดำเนินการหลายด้านเพื่อปรับปรุงการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน ได้แก่ การทำข้อตกลงกับประเทศคู่ค้าในการชำระค่าสินค้าแบบหักลบกลบหนี้และจ่ายเป็นเงินสกุลท้องถิ่นแทนการชำระเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐ การลดค่าธรรมเนียมทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน(Hedging) และ การเพิ่มเครื่องมือทางการเงินเพื่อส่งเสริมการ hedging ของผู้ประกอบการให้เหมาะสมกับแต่ละธุรกิจ

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวภายหลังการหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมผู้นำเข้าและส่งออกระดับบัตรทอง และสมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยวในวันนี้ว่า การดูแลค่าเงินบาทให้มีความเหมาะสมเป็นภารกิจหลักของ ธปท.ซึ่งขณะนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เพราะค่าเงินดอลลาร์ผันผวนขึ้นลงแรงไปตามข่าวในแต่ละวัน ทำให้ขาดความมีเสถียรภาพ

ภาคธุรกิจต้องการเห็นค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับค่าเงินประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง และมีความเข้าใจมากขึ้นถึงการติดตามค่าเงินว่ามีการเคลื่อนไหวในทิศทางอย่างไร จำเป็นต้องดูจากดัชนี NEER และ REER ไม่ใช่การดูโดยเปรียบเทียบจากเงินดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจมีความเป็นห่วงการเก็งกำไรระยะสั้นจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่ง ธปท.ให้ข้อมูลว่า จากการติดตามตลาดเงิน พบว่า การเคลื่อนไหวในตลาดเงินยังเป็นการซื้อขายเงินของภาคธุรกิจส่งออก และนำเข้าเป็นส่วนใหญ่ มีเงินจากตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้บ้าง แต่ไม่มากนัก

ดังนั้น ภาคเอกชนควรจะให้ความสำคัญกับการทำ hedging โดยธปท.ก็จะไปช่วยดูว่ามีข้อติดขัดที่ใดบ้าง เพื่อทำการแก้ไขอุปสรรค

"การทำเฮดจิ้งมันไม่ใช่มีประโยชน์แค่ระยะสั้น แต่มีระยะยาวมีผลดีด้วย ตอนนี้แบงก์ชาติจะดูว่ามีข้อติดขัดอะไรบ้าง"นางธาริษา กล่าว

ผู้ว่า ธปท.กล่าวว่า ในระยะหลังการทำ hedging ลดน้อยลงเหลือประมาณ 30% จากเดิมที่เคยอยู่ในระดับ 50% ทั้ง ๆ ที่การเคลื่อนไหวของเงินบาททำให้ผู้ประกอบการมีความเสี่ยง โดยเฉพาะการแข็งค่าของเงินบาท 1 บาทจะทำให้รายได้ของผู้ส่งออกหายไป 10 ล้านดอลลาร์ จาก 1,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งบาทแข็งจะทำให้ขาดทุน แต่ถ้าบาทอ่อนก็จะทำให้มีกำไร ซึ่งรายได้ของผู้ประกอบการก็จะไม่มั่นคง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผู้ประกอบการรายย่อยยังมีความรู้ความเข้าใจในการทำ hedging น้อยมาก ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่มีความรู้เรื่องนี้มากอยู่แล้ว ดังนั้น ธปท.จึงจะเน้นให้ความรู้กับผู้ประกอบการรายเล็ก รวมทั้งจะหารือกับธนาคารพาณิชย์ที่มีสินค้าไม่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการในแต่ละธุรกิจทีแตกต่างกัน เพื่อให้มีการสร้างเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ มารองรับได้ตรงกับความต้องการมากขึ้น และจะมีการศึกษาการลดค่าธรรมเนียมในการทำ hedging เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมาทำมากขึ้น

พร้อมกันนั้น ธปท.ยังรับที่จะไปประสานกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(ธสน.)เพื่อให้เข้ามาช่วยรับประกันความเสี่ยงให้กับผู้ส่งออกที่ประสบปัญหาผู้นำเข้าในต่างประเทศไม่ได้เปิดแอลซีให้ ทำให้ไม่สามารถนำไปใช้เป็นหลักประกันเพื่อขอกู้เงินมาเสริมสภาพคล่องกิจไม่สามารถเอาไปขอกู้จากธนาคารได้

นางธาริษา กล่าวอีกว่า ธปท.กำลังศึกษาแนวทางที่ทางการจีนได้มีข้อตกลงกับประเทศคู่ค้า 4 ประเทศในการ swap ค่าเงินระหว่างกันและชำระค่าสินค้าเป็นเงินสกกุลท้องถิ่นแทนดอลลาร์ ซึ่งอาจนำแนวทางดังกล่าวมาเป็นตัวอย่างในการทำข้อตกลงระหว่างไทยกับประเทศคู่ค้าด้วย

ส่วนการผลักดันเงินหยวนของจีนให้เป็น international currency เช่นเดียวกับเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินเยนญี่ปุ่นนั้น คงจะยังเป็นไปไม่ได้ในระยะใกล้ ๆ เพราะดอลลาร์และเยนมีความกว้างและลึกมากกว่า แต่ในอนาคตก็อาจเป็นไปได้

นางธาริษา กล่าวว่า การหารือในวันนี้ยังรวมไปถึงภาวะเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มอนาคต รวมถึงนโยบายสถาบันการเงินที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจ โดย ธปท.ได้ให้ความมั่นใจว่า สภาพคล่องในระบบที่มีอยู่ในปัจจุบันยังมีเพียงพอรองรับความต้องการเงินกู้ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 ของรัฐบาล

รวมทั้งเกณฑ์ของ ธปท. ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ส่วนปัญหาสภาพคล่องที่เกิดขึ้นบางจุดในระบบสถาบันการเงินนั้น ธปท.รับจะเป็นผู้ประสานงานระหว่างสถาบันการเงินและภาคเอกชน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างราบรื่น

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า การหารือกับภาคธุรกิจ เป็นช่องทางสำคัญในการสื่อสารเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงินและสถาบันการเงินของ ธปท. และเป็นการส่งสัญญาณให้กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจ ที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ได้รับทราบแนวโน้มเกี่ยวกับสถานการณ์การเงินและเศรษฐกิจโลก ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เพื่อเตรียมความพร้อมและปรับตัวให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเงินภายใต้วิกฤติเศรษฐกิจ และการหารือร่วมกันครั้งนี้ ยังได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และสร้างความเข้าใจในประเด็นต่างๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ