นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม มั่นใจว่า ยอดขอรับการส่งเสริมลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในปีนี้ จะเป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ที่ 400,000 ล้านบาท โดยยอดการขอรับส่งเสริมลงทุนในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้สูงถึง 167,000 ล้านบาท และคาดว่าช่วงครึ่งปีแรกจะสูงถึง 200,000 ล้านบาท
ส่วนแนวโน้มราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นในขณะนี้ เชื่อว่า ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมจะสามารถปรับตัว เพื่อรับกับสถานการณ์ได้ โดยภาครัฐจะไม่เข้าไปแทรกแซงราคาน้ำมัน แต่จะให้ความช่วยเหลืออำนวยความสะดวก ในการนำเข้าและส่งออกสินค้าแทน รวมทั้งจะช่วยพัฒนาระบบขนส่งของประเทศเพื่อลดต้นทุนผู้ประกอบการแทน
รมว.อุตสาหกรรม ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ย้ำจุดยืนกับหอการค้าต่างประเทศในไทย(JFCCT) ถึงการดูแลการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลพร้อมจะลดปัญหาและอุปสรรคให้แก่นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทย โดยชูโครงการ "One Start and One Stop Service Center" หรือ OSOS ซึ่งจะมีหน่วยราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนมาทำหน้าที่เป็นจุดให้บริการนักลงทุนแบบเบ็ดเสร็จ
"ในสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย ประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมถึงไทยจำเป็นต้องประคองตัวเพื่อข้ามผ่านไปให้ได้ด้วยความเสียหายน้อยที่สุด การที่สมาชิกหอการค้าต่างประเทศมาร่วมพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลการลงทุนครั้งนี้ จึงเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญที่หน่วยงานต่างๆ จะได้นำข้อมูลไปประกอบการปรับปรุงแก้ไข เพื่อทำให้ไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุนที่สุดในภูมิภาค" รมว.อุตสาหกรรม กล่าว
นายชาญชัย กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนในต่างประเทศ ด้วยการจัดกิจกรรมชักจูงการลงทุนในประเทศต่างๆ ที่มีศักยภาพอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเดินหน้าเปิดสำนักงานต่างประเทศของบีโอไอ ซึ่งจะดำเนินการเปิดได้ครบทั้ง 6 แห่ง ภายในเดือน ก.ย.52 นี้ เป็นการเสริมสร้างศักยภาพและเครือข่ายการส่งเสริมการลงทุนของไทยให้ครอบคลุมกลุ่มประเทศเป้าหมายต่างๆ ได้มากขึ้น
ด้านนางอรรชกา สีบุญเรือง บริมเบิล เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาให้นักลงทุนถือเป็นภารกิจที่บีโอไอให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งการประชุมกับ JFCCT ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการชี้แจงแนวทางการเดินหน้าผลักดันมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ๆ ที่ออกมาเพื่อผ่อนคลายปัญหาของภาคธุรกิจและกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้นแล้ว ยังจะเป็นการแจ้งความคืบหน้าของการดำเนินการตามข้อเสนอของภาคเอกชนซึ่งเป็นผลมาจากการประชุมครั้งก่อน เช่น เพิ่มประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมในด้านโทรคมนาคม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือในรายละเอียดประเภทกิจการที่ชัดเจน
ส่วนการปรับปรุงประเภทกิจการโลจิสติกส์ ซึ่งภาคเอกชนขอให้ทบทวนสิทธิประโยชน์ของบริษัทที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเฉพาะสำหรับโลจิสติกส์ให้ได้รับสิทธิเหมือนอยู่ในเขตอุตสาหกรรมนั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาปรับปรุงประเภทกิจการ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมบอร์ดบีโอไอในช่วงปลายเดือน ก.ค.52
นอกจากนี้ บีโอไอยังให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามนโยบายปีแห่งการลงทุน โดยเมื่อเร็วๆ นี้ได้ออกมาตรการกระตุ้นการลงทุนในรูปแบบต่างๆ เพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น เช่น ส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยการปรับปรุงเทคโนโลยีเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้และรักษาการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม
รวมทั้งการเปิดประเภทกิจการประกอบรถยนต์ใหม่ เพื่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ สนับสนุนให้ไทยเป็นฐานผลิตรถยนต์ในภูมิภาคอย่างแท้จริง และการเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อกระตุ้นให้กิจการทุกประเภทที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ รวมถึงการปรับปรุงเงื่อนไขและราคาจำหน่ายในโครงการบ้านบีโอไอ จาก 6 แสนบาท/หน่วย เป็น 1 ล้านบาท/หน่วย กระตุ้นผู้ประกอบการลงทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยเพิ่มทางเลือกแก่ประชาชนในพื้นที่เขตเมือง เป็นต้น