สวค.ห่วงเบิกงบช้า-ลงทุน SP2ไม่ชัด-สินเชื่อสะดุด-บาทแข็ง ฉุดศก.หดหนักกว่าคาด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 22, 2009 14:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง(สวค.)ห่วงเศรษฐกิจไทยปีนี้อาจหดตัวมากกว่าที่เคยคาดไว้ แม้รัฐบาลจะพยายามออกหลายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การเบิกจ่ายงบประมาณยังมีปัญหาล่าช้ามาก ทำให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบไม่เต็มที่ ประกอบกับ แผนการลงทุนในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจระลอก 2 ยังไม่ชัดเจน ขณะที่การปล่อยสินเชื่อในประเทศสะดุด และค่าเงินบาทแข็ง

นายคณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการ สวค.กล่าวว่า เม็ดเงินลงทุนภาครัฐที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจทุก 1 แสนล้านบาทจะมีผลต่อการเติบโตเศรษฐกิจ 0.4-0.5% ขณะที่ตัวเลขที่ทาง สวค.คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 52 จะหดตัวที่ 3.5% เป็นการประเมินโดยรวมเม็ดเงินจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไว้แล้ว ดังนั้นหากไม่สามารถเบิกจ่ายเพื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ตามเป้าหมาย อาจมีผลให้อัตราการหดตัวปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 4-5% ได้

สวค.ระบุว่า เศรษฐกิจไตรมาส 1/52 หดตัวแล้ว 7.1% ขณะที่คาดว่าไตรมาส 2-3/52 จะหดตัวไตรมาสละ 5% และไตรมาส 4/52 จะขยายตัว 2% เนื่องจากฐานในช่วงไตรมาส 4/51 อยู่ในระดับต่ำ

นายคณิศ ขณะนี้พบปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่ทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ล่าช้า ซึ่งจะมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน เห็นได้จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรกผ่านงบกลางปี 52 วงเงิน 1.167 แสนล้านบาท ขณะนี้มีการเบิกจ่ายเงินไปได้เพียง 50% เท่านั้น ซึ่งหวังว่าเม็ดเงินที่เหลือน่าจะมีการเบิกจ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาส 3/52 ได้

ส่วนแผนการกู้เงินของรัฐบาล ตาม พ.ร.ก. และพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ วงเงินรวม 8 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นต้องเพื่อนำเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจ แต่โครงการที่รัฐบาลจะดำเนินการตามแผนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2(SP2)จากแผนปฎิบัติการไทยเข้มแข็ง วงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท ยังไม่มีความชัดเจนถึงรายละเอียดของโครงการลงทุน และอาจส่งผลให้มีเม็ดเงินเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังไว้

"เรื่องเงินไม่มีปัญหา แต่โครงการที่จะลงมานั้นมีจริงหรือไม่ เพราะหากเป็นโครงการเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ได้มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างจริงจัง อาจเป็นเพียงเม็ดเงินเพื่อชะลอเศรษฐกิจไม่ให้หดตัวมากขึ้น แต่หากไม่มีผลต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและแข่งขันได้ ตอนนี้ภาพใหญ่ยังไม่ชัดว่ารัฐจะเอาเงินไปลงทุนโครงการไหนบ้าง ก็คงต้องติดตามดู เพราะเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วง"นายคณิศ กล่าว

การกู้เงิน ตาม พ.ร.ก.กู้เงินฯ 4 แสนล้านบาทนั้น 2 แสนล้านบาทแรกมีความชัดเจนว่าจะกู้เงินเพื่อชดเชยเงินคงคลัง เนื่องจากรัฐบาลจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย แต่อีก 2 แสนล้านบาท รวมถึงการกู้เงิน ตาม พ.ร.บ.กู้เงิน ฯอีก 4 แสนล้านบาท ยังไม่มีความชัดเจนถึงโครงการลงทุน ดังนั้น จึงอาจเป็นปัญหาว่าการเบิกจ่ายเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 3-4/52 จะเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ ซึ่งจะกลายเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะ 6 เดือนข้างหน้านี้

ผู้อำนวยการ สวค.กล่าวว่า หากเศรษฐกิจไม่สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมาย โดยเม็ดเงินจากภาครัฐไม่สามารถส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแท้จริง รัฐบาลก็จะไม่มีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น และอาจจะมีผลต่อการชำระหนี้ เพราะการกู้เงินของรัฐบาลทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็น 60% ของจีดีพี ซึ่งสูงกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลัง และการที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวชัดเจนก็จะมีผลทำให้ภาคเอกชนไม่มีการลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงในเรื่องการว่างงานที่อาจจะสูงขึ้นในช่วงปลายปีนี้ได้

อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการ สวค.เสนอแนะให้รัฐบาลดูแลให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบให้มากขึ้น โดยเฉพาะในภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจมากที่สุด คือ อิเล็กทรอนิคส์ ท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมรถยนต์ เพื่อให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ แต่จากข้อมูล 5 เดือนแรกของปีนี้พบว่ายอดปล่อยสินเชื่อหดตัวไปแล้ว 2.4 แสนล้านบาท รวมถึงการดูแลค่าเงินเพื่อช่วยหนุนภาคการส่งออก แต่ปัญหาขณะนี้ยังพบว่าเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง

"ปัจจัยในประเทศที่จะหนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ขึ้นอยู่กับการเบิกจ่ายเงินงบประมาณได้เร็วแค่ไหน รวมถึงภาคสินเชื่อ และอัตราแลกเปลี่ยน แต่ปัญหาตอนนี้ก็คือ เงินภาครัฐมีเข้าระบบบ้าง สินเชื่อยังปล่อยได้น้อย และเงินบาทแข็งค่า...กลัวว่าปลายปีจะมีคนว่างงานมากขึ้น เพราะเงินลงเศรษฐกิจไม่ทัน และไม่ตรงตามเป้าหมาย" ผู้อำนวยการ สวค. กล่าวในที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ