ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์พุ่งเทียบยูโร หลังนักลงทุนแห่ซื้อดอลล์เพื่อเลี่ยงความเสี่ยง

ข่าวต่างประเทศ Tuesday June 23, 2009 07:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐดีดตัวขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (22 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนชะลอแรงซื้อสกุลเงินที่มีความเสี่ยงและให้อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่า หลังจากธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะหดตัวลงอีกในปีนี้

ค่าเงินดอลลาร์ดีดตัวขึ้น 0.56% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิส แตะที่ 1.0866 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับของวันศุกร์ที่ 1.0806 ฟรังค์/ดอลลาร์ แต่อ่อนตัวลง 0.36% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ 95.910 เยน/ดอลลาร์ จากระดับ 96.260 เยน/ดอลลาร์

ค่าเงินยูโรดิ่งลง 0.61% แตะระดับ 1.3855 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับของวันศุกร์ที่ 1.3940 ดอลลาร์/ยูโร และค่าเงินปอนด์ร่วงลง 1.02% แตะระดับ 1.6335 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.6504 ดอลลาร์/ปอนด์

ส่วนค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียดิ่งลง 2.39% แตะที่ 0.7867 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 0.8060 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ร่วงลง 1.93% แตะที่ 0.6298 ดอลลาร์สหรัฐต่อดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.6422 ดอลลาร์สหรัฐต่อดอลลาร์นิวซีแลนด์

อเล็กซานเดอร์ โคช นักวิเคราะห์จากบริษัท UniCredit กล่าวกับเอพีว่า นักลงทุนแห่เข้าซื้อดอลลาร์สหรัฐเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในยามที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มซบเซา หลังจากธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะหดตัว 2.9% เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนหน้านี้ที่คาดว่าจะหดตัวเพียง 1.7% ขณะเดียวกันธนาคารโลกคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะกลับมาฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งในปีหน้า โดยคาดว่าจะขยายตัวราว 2% แต่ลดลงจากระดับคาดการณ์เมื่อ 3 เดือนก่อนว่าจะขยายตัว 2.3%

นักลงทุนจับตาดูการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะมีขึ้นในคืนวันอังคารและจะเสร็จสิ้นในคืนวันพุธนี้ โดยมีกระแสคาดการณ์ว่าเฟดจะตรึงดอกเบี้ยที่ระดับ 0.0.25% นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญๆของสหรัฐในสัปดาห์นี้ โดยวันพุธ กระทรวงพาณิชย์จะรายงานยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนพ.ค.และยอดขายบ้านใหม่เดือนพ.ค.

ส่วนในวันพฤหัสบดี กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่แท้จริงขั้นสุดท้ายประจำไตรมาส 1 และในวันศุกร์มหาวิทยาลัยมิชิแกนจะเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นขั้นสุดท้ายเดือนมิ.ย.

ฌอง-คล็อด ทริเชต์ ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เตือนว่า รัฐบาลประเทศต่างๆที่กู้ยืมเงินจำนวนมากเพื่อนำมาต่อสู้กับวิกฤตเศรษฐกิจ ไม่ควรสะสมหนี้เพิ่มอีก พร้อมกับชี้ว่าแผนกระตุ้นเศรษฐกิจในปัจจุบันนั้นเพียงพออยู่แล้ว รายงานระบุว่า หลายประเทศในยุโรปได้ส่งสัญญาณว่าจะไม่ใช้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีก ซึ่งตรงข้ามกับสหรัฐที่ยังคงเดินหน้าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่สภาคองเกรสได้อนุมัติแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 7.87 แสนล้านไปเมื่อเดือนก.พ.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ