นายสมชัย สัจจพงษ์ โฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเดือน พ.ค.52 มีทั้งสิ้น 217,056 ล้านบาทต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน 59,914 ล้านบาท คิดเป็น 21.6% แต่สูงกว่าประมาณการเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 52 จำนวน 6,995 ล้านบาท คิดเป็น 3.3%
กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้ สูงกว่าประมาณการ 3,097 ล้านบาท ขณะที่กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร เก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ และเป็นที่น่าสังเกตว่าจากการปรับขึ้น ภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ภาษีสุรา และภาษีเบียร์ ทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สูงกว่าเดือนก่อน แต่ยังต่ำกว่าประมาณการ ยกเว้นภาษีน้ำมันที่สูงกว่าประมาณการ
สำหรับ ช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ52 (ต.ค.51- พ.ค.52) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 874,678 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 108,969 ล้านบาท หรือคิดเป็น 11.1% โดยการจัดเก็บภาษีของ 3 กรมหลัก และการนำส่งรายได้เข้าคลังของรัฐวิสาหกิจยังต่ำกว่าประมาณการ โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และเงินได้ปิโตรเลียมจากกำไรสุทธิของกรมสรรพากร เนื่องจากมีการเหลื่อมเวลาในการยื่นชำระภาษีดังกล่าว และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจที่ต่ำกว่าประมาณการ
กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 700,686 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 58,676 ล้านบาท คิดเป็น 7.7% โดยภาษีเงินได้นิติบุคคล ต่ำกว่าประมาณการ 2,899 ล้านบาท ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่ำกว่าประมาณการ 12,247 ล้านบาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่ำกว่าประมาณการ 70,205 ล้านบาท
กรมสรรพสามิต จัดเก็บได้รวม 179,383 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 32,989 ล้านบาท คิดเป็น 15.5% โดยภาษีน้ำมันต่ำกว่าประมาณการ 20,703 ล้านบาท คิดเป็น 33.1% เป็นผลจากมาตรการลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและแก๊สโซฮอล์ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 52 ภาษีรถยนต์ต่ำกว่าประมาณการ 12,734 ล้านบาท คิดเป็น 30% เป็นผลจากประชาชนชะลอการซื้อสินค้าคงทน ประกอบกับสถาบันการเงินระมัดระวังในการให้สินเชื่อมากขึ้น ภาษีเบียร์ ต่ำกว่าประมาณการ 2,023 ล้านบาท คิดเป็น 5.5% ภาษียาสูบ ต่ำกว่าประมาณการ 1,403 ล้านบาท คิดเป็น 4.8%
กรมศุลกากร จัดเก็บได้รวม 52,785 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 13,345 ล้านบาท คิดเป็น 20.2% โดยอากรขาเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 13,649 ล้านบาท คิดเป็น 21.1% เป็นผลจากการหดตัวของมูลค่าการนำเข้าสินค้าเป็นสำคัญ และผลของเงินบาทแข็งค่า
รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้เข้ารัฐ 56,524 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 11,321 ล้านบาท คิดเป็น 16.7% โดยมีรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้สูง 5 อันดับแรก ได้แก่ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ธนาคารออมสิน บมจ. กสท.โทรคมนาคม และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
หน่วยงานอื่น นำส่งรายได้รวม 57,810 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 3,315 ล้านบาท คิดเป็น 6.1 %
อย่างไรก็ตาม โฆษกกระทรวงการคลัง คาดการณ์ว่า การจัดเก็บรายได้ตลอดทั้งปีงบประมาณ 52 จะต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณน้อยกว่า 280,000 ล้านบาทที่เคยคาดไว้เดิม จากเป้าหมายจัดเก็บรายได้ทั้งปี 1.604 ล้านล้านบาท เนื่องจากแนวโน้มการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีงบประมาณ 52 มีปัจจัยบวกสำคัญ คือการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน สุรา เบียร์ และยาสูบ เมื่อ พ.ค.52 ซึ่งจะทำให้มีรายได้เพิ่มประมาณ 23,850 ล้านบาท รวมทั้งการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งมีทิศทางไม่ได้ลดลงมากจากที่ได้คาดการณ์ไว้เดิม และการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ลดลง