นายอารีพงศ์ ภู่ชะอุ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวยืนยันว่า แผนฟื้นฟูการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยให้ตั้งบริษัทลูก 2 แห่ง คือ บริษัทเดินรถ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ เป็นการปรับโครงสร้างองค์กร ไม่ใช่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจตามที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ รฟท.เข้าใจ แต่การตั้งบริษัทลูกขึ้นมาจะทำให้เกิดความชัดเจนในการบริหารองค์กร เพื่อให้ รฟท.สามารถทำรายได้ เพื่อลดภาระเงินงบประมาณ และเพิ่มประสิทธิภาพ โดยที่พนักงานไม่ได้เสียประโยชน์ใดๆ
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่ามีรัฐวิสาหกิจหลายแห่งที่มีการปรับโครงสร้างองค์กรไปแล้ว และสามารถสร้างผลกำไร อยู่ได้ด้วยตนเอง เช่น กรณีของการสื่อสารแห่งประเทศไทยที่แปรสภาพ ปรับโครงสร้างองค์กร แยกจัดตั้งเป็น บริษัท ไปรษณีย์ไทย จากเดิมที่เคยมีผลดำเนินงานขาดทุน กลับสามารถสร้างผลกำไรได้เป็นหลักพันล้านบาท โดยมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลการดำเนินกิจการเป็นการเฉพาะ
ดังนั้นในส่วนของ รฟท. จะมีรูปแบบดำเนินการในลักษณะเดียวกัน โดยจะมีคณะกรรมการขึ้นมาดูแลกิจการด้านการบริหารทรัพย์สิน มุ่งหารายได้จากทรัพย์สิน ส่วน บริษัทเดินรถ ก็เร่งสร้างระบบราง รองรับการขยายการคมนาคมขนส่งระบบราง
"ถ้ากลัวการแปรรูป น่าจะคุยกัน และรัฐบาลเองยินดีที่จะพูดให้ชัดเจน เพราะแผนฟื้นฟูฯรถไฟ ก็มีมติ ครม.และจะออกเป็นกฎหมายไม่ให้แปรรูป เพียงแต่ต้องใช้เวลา...การเจรจาชี้แจงคิดว่าจะมีสิ่งที่ดีๆ เพราะนอกจากหนี้สิน 70,00 ล้านบาท ผลขาดทุนอีก 10,000 ล้านบาท พนักงานที่ต้องจ่ายบำนาญ จะตั้งกองทุนดูแลพนักงานการรถไฟ ซึ่งเมื่อตั้งบริษัทลูกก็มีเงินมาช่วยตั้งกองทุนดูแลบำนาญ บริษัทลูกจะหารายได้ดีขึ้น ลดภาระการรถไฟ พนักงานไมได้เสียประโยชน์ มีการแยกบัญชีชัดเจน" นายอารีพงศ์ กล่าว
ด้านนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานและผู้อำนวยการโครงการปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องกลับมาพิจารณาและให้ความสำคัญในการปรับปรุงและพัฒนารัฐวิสาหกิจไทยในรูปแบบที่ได้รับการยอมรับกับทุกภาคส่วนอย่างจริงจังและชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะเห็นการประท้วงหยุดให้บริการของพนักงานรัฐวิสาหกิจอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการหยุดให้บริการเดินรถของพนักงาน รฟท. ที่เป็นปัญหาส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจะไม่มีนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่รัฐวิสาหกิจไทยก็จำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เพื่อให้มีศักยภาพเพียงพอที่จะสามารถแข่งขันได้ด้วยตัวเอง เป็นการลดภาระของภาครัฐที่จะต้องนำรายได้มาสนับสนุนค่าใช้จ่าย แต่ที่ผ่านมา การดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจยังประสบปัญหาขาดทุน ไม่สามารถส่งรายได้ให้กับภาครัฐได้เต็มที่ และการบริการประชาชนก็ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
"รัฐบาลต้องมีจุดยืนเพื่อรักษาประโยชน์ของชาติ อยากให้รัฐบาลหันมาพิจารณาอย่างจริงจัง โดยอาจใช้แนวทางที่อยู่ในสมุดปกขาวที่ได้เคยยื่นไปมาดำเนินการโดยเร่งด่วน ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถชี้ทางออกในเรื่องนี้ได้อย่างแน่นอน" นายสังศิต กล่าว