นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมรับฟังความคิดเห็นเรื่องแผนการปรับปรุงการบริหารจัดการและบริการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ในส่วนของโครงการจัดหารถโดยสารปรับอากาศใหม่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงจำนวน 4,000 คัน ว่า สศช.จะนำข้อมูลที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นใน 4 ข้อ คือ ภาพรวมการบริการขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯและปริมณฑล, เส้นทางเดินรถ, ปริมาณผู้โดยสาร และโครงสร้างรายได้และต้นทุนไปสรุป และเสนอให้คณะกรรมการ สศช.พิจารณาในสัปดาห์หน้า
"หากข้อมูลมีจำนวนมากก็อาจจะขอขยายเวลาการพิจารณาตามมติครม.ออกไปจากเดิมที่ให้เวลาพิจารณาภายใน 1 เดือน" นายอำพน กล่าว
ทั้งนี้ ข้อมูลที่นำมารับฟังความคิดเห็นเป็นข้อมูลจากระทรวงคมนาคม โดยพบว่าภาพรวมการบริการขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ มีแนวโน้มว่าผู้โดยสารจะใช้บริการรถโดยสารประจำทางลดลงเฉลี่ยปีละ 5% ขณะที่สัดส่วนของผู้ใช้บริการรถโดยสารของขสมก.อยู่ที่ 23% น้อยกว่ารถร่วมบริการที่มีสัดส่วนถึง 64% และสัดส่วนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 9%
ส่วนเส้นทางเดินรถที่ขสมก.มีแผนปรับปรุงใหม่ 145 เส้นทางนั้น จะมีการขยายเส้นทางการให้บริการรวมระยะทาง 1,419 กิโลเมตร ขณะที่จำนวนเที่ยววิ่งจะเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 52,000 เที่ยวต่อวัน จากเดิม 30,000 เที่ยวต่อวัน และในแต่ละเส้นทางจะมีรถโดยสารสำหรับผู้พิการเส้นทางละ 1 คัน
สำหรับปริมาณผู้โดยสารนั้น ขสมก.ประเมินว่าจะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 3.43 ล้านคนต่อวัน จากเดิมที่มีผู้โดยสาร 1.6 ล้านคนต่อวัน และจะมีรายได้ที่ 10,929 บาทต่อวันต่อคัน โดยมีต้นทุนค่าเช่ารถที่วันละ 4,442 บาทต่อวันต่อคัน
ด้านนายฉัตรชัย ชัยวิเศษ นายกสมาคมพัฒนารถร่วมเอกชน กล่าวว่า ผู้ประกอบการรถร่วมเอกชนขอคัดค้านแนวคิดการกำหนดเส้นทาง 145 เส้นทาง เพราะเส้นทางที่ขสมก.กำหนดขึ้นทับซ้อนเส้นทางของรถร่วมเอกชนกว่า 80% และในการจัดทำโครงการเช่ารถโดยสารเอ็นจีวี 4,000 คัน ก็ไม่เคยที่จะให้ผู้ประกอบการเข้ามีส่วนร่วม และไม่เชื่อว่าข้อมูลในการดำเนินโครงการจะเป็นไปตามที่ขสมก.คำนวณ โดยเฉพาะปริมาณผู้โดยสารมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง
ส่วนนายฉัตรชัย ภู่อารี ประธานชมรมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางรถหมวด 4 กล่าวว่า รายได้ที่ขสมก.ประเมินว่าจะได้รับที่ 10,929 บาทต่อวันต่อคัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีรายได้สูงสุดประมาณ 7,000 บาทต่อวันต่อคันนั้นไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะจากการศึกษาแนวเส้นทางที่ขสมก.กำหนด เช่น เส้นทางพุทธมณฑลสาย 2 และ 3 ที่ตนเคยให้บริการก็ขาดทุน เนื่องจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเป็นส่วนใหญ่ สิ่งนี้ถามว่าขสมก.เคยเข้าไปศึกษาพฤติกรรมการใช้ของผู้โดยสารหรือไม่
ขณะที่นายบุญชัย รุ่งเรืองไพศาลสุข ประธานเครือข่ายคัดค้านขึ้นค่าโดยสารรถสาธารณะ กล่าวว่า อัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 20 บาทตลอดสาย และเห็นว่าจำนวนรถโดยสารที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 3,500 คัน และสศช.ต้องคำนึงถึงการพัฒนาการให้บริการ และคุณภาพของรถโดยสารด้วย ไม่ใช่คิดเพียงแต่ว่าจะเช่าหรือซื้อรถโดยสารเท่านั้น
นายสนาน บุญงอก ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจขสมก. กล่าวว่า ขสมก.มีความจำเป็นที่ต้องมีรถโดยสารใหม่มาให้บริการกับประชาชน ดังนั้นจึงสนับสนุนให้มีการจัดหารถโดยสาร 4,000 คัน แต่การจัดเส้นทางเดินรถนั้นต้องปรับพื้นฐานการกำหนดเส้นทางใหม่ไม่ใช่ 145 เส้นทางเดิม เพราะเดิมคิดบนพื้นฐานที่มีรถโดยสาร 6,000 คัน
ด้านผู้แทนจากผู้พิการ กล่าวว่า ต้องการให้จัดหารถโดยสารแบบพื้นต่ำ เพื่อที่จะอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการและคนชรา ซึ่งแม้ว่าจะเพิ่มต้นทุนอีกเล็กน้อยแต่จะเพิ่มความคุ้มค่าทางสังคม และจะช่วยคนพิการได้มาก เนื่องจากปัจจุบันคนพิการไม่สามารถเข้าถึงการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะได้ และต้องใช้บริการรถแท็กซี่ที่มีอัตราค่าโดยสารสูง โดยหากดำเนินการให้ผู้พิการได้รับความสะดวกจะเก็บค่าโดยสารเพิ่มอีกเล็กน้อยก็ยินดี