สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป (EU) ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ในกรณีที่จีนใช้กฏหมายที่เข้มงวดด้านการส่งออกวัตถุดิบจำพวก แม็กเนเซียม ถ่านโค๊ก และสังกะสี โดยทั้งสหรัฐ และ EU ระบุว่าจีนใช้เรียกเก็บภาษีส่งออกอย่างไม่เป็นธรรมเพื่อกดต้นทุนวัตถุดิบให้ต่ำลง ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทเหล็กและบริษัทอุตสาหกรรมของจีนเอง แต่สร้างความเดือดร้อนให้กับบริษัทต่างชาติที่เป็นคู่แข่ง
"นโยบายของจีนในเรื่องการนำเข้าวัตถุดิบเป็นนโยบายที่เอื้อประโยชน์อย่างมหาศาลต่อกลุ่มผู้ผลิตของจีนเอง และการต่อต้านนโยบายที่ไม่เป็นธรรมเช่นนี้ ถือเป็นงานของเราโดยตรง" รอน เคิร์คโทลด์ เจ้าหน้าที่ตัวแทนการค้าของสหรัฐกล่าวกับบลูมเบิร์กในวันนี้
จีนเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ของสหรัฐ และเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสองของ EU ดังนั้นการที่จีนประกาศใช้กฎหมายที่เข้มงวดด้านการส่งออกย่อมสร้างความไม่พอใจให้กับชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั้งสอง โดยคณะทำงานของบารัค โอบามา เป็นตัวตั้งตัวตีในการยื่นคำร้องต่อ WTO ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของคณะทำงานที่จะเกิดหน้าขจัดกำแพงการค้า โดยเฉพาะจีน
โรเบิร์ต แค็พ ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศจากบริษัท Port Townsend กล่าวว่า จีนและสหรัฐผลัดกันรุกผลัดกันรับในเรื่องการค้ามาโดยตลอด โดยหลังสุดกระทรวงพาณิชย์จีนออกแถลงการณ์ผ่านเว็บไซท์ว่า จีนจะยื่นฟ้องร้องต่อ WTO เพื่อต่อต้านสหรัฐที่ใช้มาตรการห้ามนำเข้าไก่จากจีน โดยจีนระบุว่ามาตรการดังกล่าว "ไม่ยุติธรรมและมุ่งร้าย" ต่อจีน และจีนจะใช้สิทธิอันชอบธรรมในการดำเนินการขั้นต่อไป
การที่จีนยื่นคำร้องเอาผิดกับสหรัฐที่ใช้มาตรการที่ไม่เป็นธรรมในการนำเข้าไก่จากจีนนั้น ถือเป็นการยื่นฟ้องครั้งที่ 4 นับตั้งแต่จีนเข้าเป็นสมาชิก WTO ในปีพ.ศ.2544 แต่นับเป็นการยื่นฟ้องครั้งแรกนับตั้งแต่ยอดส่งออกของจีนเริ่มดิ่งลงอย่างหนักในเดือนพ.ย. ขณะที่ประชาชนกว่า 3 ล้านคนในจีนต้องตกงานหลังจากเศรษฐกิจขยายตัวในระดับต่ำสุดในรอบ 7 ปี ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวกำลังบั่นทอนประสิทธิภาพของพรรคคอมมิวนิสต์ในการบริหารประเทศ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน