นายวีระชาติ ศรีบุญมา ผู้อำนวยการสำนักคดี ฝ่ายกฎหมายและคดี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การดำเนินการคดีกับนายราเกซ สักเสนา ผู้ต้องหาคดียักยอกทรัพย์สิน ธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ หรือ บีบีซี ขณะนี้มีความคืบหน้าในการดำเนินการเพื่อนำตัวนายราเกซ มาดำเนินคดีในประเทศไทย โดยมั่นใจว่า 80-90% จะสามารถนำตัวกลับมาดำเนินคดีในไทยได้แน่นอน แต่ต้องรอศาลฎีกาของประเทศแคนาดา พิจารณาตัดสินในเรื่องนี้ ในเดือน ส.ค.52 ว่าจะมีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ที่ให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนกลับสู่ประเทศไทยได้
ส่วนเรื่องการยื่นอุทธรณ์นั้นได้สิ้นสุดไปเมื่อ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดย ธปท.ได้หารือร่วมกับสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาแนวทางดำเนินการรับตัวนายราเกซ กลับมาดำเนินคดีในไทยได้อย่างไรบ้าง
สำหรับความเสียหายจากการทุจริตในคดียักยอกทรัพย์ มีมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท ได้มีการติดตามนำเงินที่มีการยักยอกมาจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ได้แล้ว 1,537 ล้านบาท อยู่ระหว่างบังคับคดีทางแพ่งอีก 500 ล้านบาท อยู่ระหว่างอายัดทรัพย์ในประเทศอังกฤษ 4 ล้านดอลลาร์ อยู่ระหว่างอายัดทรัพย์ในประเทศ BAILIWICK OF GUERHSEY 6.4 ล้านดอลลาร์ อายัดที่ดินบางแสน มูลค่า 105 ล้านบาท และรวมกับผู้ต้องหาอีก 1 ราย ที่ได้ยึดทรัพย์ NCD หรือ บัตรเงินฝากมาเป็นทรัพย์ของแผ่นดินแล้ว 23 ล้านบาท
นายวีระชาติ ยังกล่าวถึงสถิติคดีทางอาญา ที่ ธปท.ร้องทุกกล่าวโทษ ตั้งแต่อดีต-สิ้นปี 51 มีจำนวน 58,765.4 ล้านบาท มีจำนวนคดีทั้งหมด 82 คดี และคดีได้ถึงที่สิ้นสุดแล้ว 28 คดี ส่วนอีก 10 คดี อยู่ระหว่างดำเนินการในชั้นอัยการ และ 44 คดี อยู่ระหว่างดำเนินการในชั้นศาล
ทั้งนี้หากแบ่งประเภทคดีทุจริต พบว่ามาจากธนาคารพาณิชย์ จำนวน 30 คดี คิดเป็นทุนทรัพย์ 46,876.6 ล้านบาท จำนวนคดีถึงที่สิ้นสุด 6 คดี อยู่ระหว่างดำเนินการ ชั้นอัยการ 2 คดี และชั้นศาล 22 คดี
นอกจากนี้ยังบพว่าเป็นคดีทุจริต บริษัทเงินทุน (บง.) บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์(บงล.) บริษัทเครดิตฟองซิเอร์(บค.) จำนวน35 คดี จำนวนทุนทรัพย์ 11,888.8 ล้านบาท มีคดีถึงที่สิ้นสุด 20 คดี อยู่ระหว่างดำเนินการชั้นอัยการ 8 คดี และชั้นศาล 7 คดี ขณะที่คดีควบคุมแลกเปลี่ยน มีจำนวน 17 คดี จำนวนทุนทรัพย์ 422 ล้านดอลลาร์ จำนวนคดีถึงที่สิ้นสุด 2 คดี และอยู่ระหว่างดำเนินการชั้นศาล 15 คดี
ด้านนายภักดี โพธิศิริ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า ขณะนี้ ป.ป.ช. อยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมาย 3 ฉบับ เกี่ยวข้องกับเรื่องความร่วมมือทางอาญา ระหว่างประเทศ การติดตามสินทรัพย์กลับคืน และการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งมี 2 ฉบับเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ส่วนอีก 1 ฉบับ คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ส่งเรื่องให้วิปรัฐบาล เพื่อเตรียมบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
ทั้งนี้หากกฎหมายทั้ง 3 ฉบับผ่านสภาผู้แทนราษฎร ไทยจะสามารถทำสัตยาบันเกี่ยวกับอนุสัญญาประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต หรือ UNCAC ซึ่งสัญญานี้ช่วยให้ป.ป.ช.มีอำนาจดึงทรัพย์สินคืนจากผู้ร้ายข้ามแดน ได้สะดวกขึ้นรวมทั้งสามารถติดตามทรัพย์สินของสถาบันการเงินเอกชนได้ด้วย
นอกจากนี้จะมีการจัดตั้งสำนักงานติดตามทรัพย์สินและเรียกคืนทรัพย์สิน อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ป.ป.ช. เพื่อทำหน้าที่เข้าไปตรวจสถาบันการเงินเอกชน ที่การทุจริต รวมทั้งจะสามารถดึงคดี BBC กับคดีการทุจริตของ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เข้ามาดูแลภายใต้สำนักงานใหม่นี้ได้ โดยขณะนี้การจัดตั้งสำนักงานดังกล่าว อยู่ระหว่างการทำรายละเอียดเพื่อเสนอครม.ให้ต่อไป