ผู้เชี่ยวชาญหวั่นปัญหาภัยแล้งฉุดเศรษฐกิจอินเดียขยายตัวไม่ถึงเป้าที่ 9%

ข่าวต่างประเทศ Thursday June 25, 2009 12:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรัฐมนตรีมานโมฮาน ซิงห์อาจอาจเผชิญอุปสรรคในการกระตุ้นให้เศรษฐกิจของอินเดียขยายตัวที่ระดับ 9% จากภาวะฝนแล้งที่ส่งผลกระทบให้การเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำลง

รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเตือนว่า ฝนที่ตกลงมาในช่วงฤดูมรสุมซึ่งอยู่ระหว่างเดือนมิ.ย.-ก.ย. อาจมีปริมาณลดลงน้อยกว่าปกติในปีนี้จากผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญ่ที่เกิดจากการที่กระแสน้ำอุ่นไหลเข้าแทนที่กระแสน้ำเย็นบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกจนทำให้อุณภูมิของผิวน้ำสูงขึ้น

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า อินเดียต้องพึ่งพาการใช้น้ำฝนในฤดูมรสุมที่เป็นแหล่งน้ำสำคัญต่อการชลประทานสำหรับเกษตรกร 235 ล้านคนและสำหรับใช้ผลิตอาหารเลี้ยงประชาชน 1.2 พันล้านคน ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งของที่ดินที่เหมาะแก่การเพาะปลูกในประเทศนั้นยังขาดแคลนน้ำ โดยผลผลิตทางการเกษตรที่ตกต่ำอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของชาวอินเดียกว่า 742 ล้านคนที่อยู่ในชนบท และบั่นทอนกำลังซื้อของประชาชนอันจะส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำ โดยธนาคารโลกได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอินเดียจะขยายตัวช้าที่สุดในรอบ 7 ปี

ด้านประธานมูลนิธิ RPG ซึ่งเป็นองค์กรด้านการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจในกรุงนิวเดลีกล่าวว่า สภาพฟ้าฝนมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจอินเดียอย่างมาก และภาวะฝนแล้งอาจกลายเป็นปัญหาหนักอกของนายกรัฐมนตรีในการผลักดันให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ รวมถึงการรักษาระดับการขยายตัวของผลผลิตทางการเกษตรที่ 4.3% นับตั้งแต่ปี 2548 ตลอดจนแผนการรับประกันอาหารสำหรับผู้ยากจน และการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ

โดยภัยแล้งเมื่อปี 2545 ได้ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เพียง 3.8% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 11 ปี และในปีต่อมาเศรษฐกิจก็ฟื้นตัวขึ้นจนสามารถขยายตัวได้ในระดับ 8.5% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2532 เนื่องจากมีปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอต่อการเกษตรกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ