(เพิ่มเติม) คลัง คาด GDP ปี 52 ติดลบราว 3% อัตราเงินเฟ้อ ติดลบ 0.5% ถึง บวก 0.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 25, 2009 15:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้มาเป็นติดลบราว 2.5-3.5% หรือเฉลี่ยที่ติดลบ 3% จากเดิมคาดติดลบในช่วง 2-3% คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นจากที่หดตัวต่ำสุดในไตรมาสแรกของปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการใช้จ่ายของภาครัฐผ่านรายจ่ายเพื่อการบริโภค และรายจ่ายเพื่อการลงทุนจากมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 1 และมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2(โครงการไทยเข้มแข็ง) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้อุปสงค์ภายในประเทศในช่วงที่เหลือของปีเริ่มปรับตัวดีขึ้น

"เศรษฐกิจไทยในปี 52 คาดว่าจะหดตัว 3% เนื่องจากการส่งออกสินค้าและบริการหดตัวลงมากตามการหดตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทย และการท่องเที่ยวที่ลดลงจากปัญหาการเมืองและความเสี่ยงจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009" นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะโฆษก สศค.กล่าว

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักหดตัวต่อเนื่อง และการใช้จ่ายภาคเอกชนที่ฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนหดตัวมาก ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนที่ชะลอลงจากรายได้ของภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มลดลง ตามการว่างงานที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจหดตัว

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อในปีนี้น่าจะอยู่ในระดับติดลบ 0.5% ถึงขยายตัว 0.5% ด้านการส่งออกติดลบ 19.2-21.2% การนำเข้า ติดลบ 30.7-32.7% ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลราว 2.36 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ปัจจัยเสี่ยงด้านเสถียรภาพภายใน คือ อัตราการว่างงานที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว โดยคาดว่าอัตราการว่างงานปีนี้อยู่ที่ 2.5%

สศค.ระบุว่า การปรับคาดการณ์จีดีพีครั้งนี้มาจากสมมติฐานที่สำคัญ คือ เศรษฐกิจของ 14 ประเทศคู่ค้าหลักคาดว่าจะหดตัว 2.1%, แนวโน้มราคาน้ำมันดิบดูไบยังอยู่ในระดับสูงคาดทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 61.2 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 50 ดอลลาร์/บาร์เรล, อัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้นมาที่เฉลี่ย 34.70 บาท/ดอลลาร์ จากเดิมที่คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 36.2%,

อัตราดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าทั้งปีเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1.25% จากเดิมที่คาดว่าจะเฉลี่ยที่ 0.75%, ราคาสินค้าส่งออกและนำเข้าที่ปรับตัวลดลงตามราคาตลาดโลก และสมมติฐานเรื่องรายจ่ายสาธารณะที่เพิ่มขึ้นเป็น 2.51 ล้านล้านบาท จากเดิมที่คาดไว้ 2.50 ล้านล้านบาท

นายเอกนิติ คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ไตรมาส 2/52 ของปีนี้มีโอกาสจะติดลบน้อยลงกว่าไตรมาสแรกที่ติดลบ 7.1% โดยคาดว่าไตรมาส 2/52 จะติดลบราว 4-5% และไตรมาส 3/52 จีดีพีติดลบเหลือ 3-4% และจะเห็นการปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 4/52 ที่ฟื้นตัวเป็นบวกราว 2-3%

"เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 มีสัญญาณหดตัวน้อยลง สิ่งที่ต้องทำคือนโยบายการคลังเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อเนื่อง แต่ก็อย่าพึ่งนโยบายการคลังอย่างเดียว นโยบายด้านสินเชื่อก็สำคัญ นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนก็มีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ซึ่งแม้เศรษฐกิจจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่ก็ต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องต่อไป" นายเอกนิติ กล่าว

ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยชะลอการหดตัวของเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับการเร่งรัดการใช้จ่ายของภาครัฐผ่านรายจ่ายเพื่อการบริโภคและการลงทุนภายใต้มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 1 และมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2(ปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง) คาดว่าจะช่วยสนับสนุนและประคับประคองให้เศรษฐกิจไทยฟื้นได้จากที่ตกต่ำสุดในไตรมาสแรกของปี 52 โดยคาดว่าการบริโภคภาครัฐในปีนี้จะเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ 9.6% และคาดว่าการลงทุนภาครัฐจะเร่งตัวขึ้นจากฐานที่ต่ำในปีก่อนมาอยู่ที่ 7.0%

นายเอกนิติ กล่าวว่านโยบายเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนน่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจมากกว่านโยบายอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินบาททุก ๆ 1 บาท/ดอลลาร์จะช่วยกระตุ้นให้จีดีพีโตขึ้นได้ 0.3% ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยทุก 1% จะมีผลต่อเศรษฐกิจเพียง 0.03-0.04% เท่านั้น

แม้ว่านโยบายการที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าอาจจะไม่ได้ช่วยเรื่องการเพิ่มมูลค่าการส่งออกได้มากนัก แต่ช่วยในแง่ของผู้ส่งออกที่สามารถแปลงรายได้จากเงินดอลลาร์มาเป็นเงินบาทได้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นการรักษาระดับรายได้ของภาคธุรกิจ โดยผลเชิงรายได้ที่เพิ่มขึ้นนี้จะไม่ทำให้ผู้ส่งออกต้องปลดคนงาน การบริโภคและการผลิตไม่หดตัว เท่ากับเป็นการช่วยพยุงเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง ส่วนเงินบาทที่อ่อนค่าจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นนั้น มองว่าจุดนี้ไม่น่าเป็นห่วง เพราะหนี้ต่างประเทศอยู่ไม่เกิน 10% เท่านั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ