สศค.เผยเดือน พ.ค.เศรษฐกิจไทยยังมีสัญญาณการหดตัวอย่างต่อเนื่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 25, 2009 16:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือน พ.ค.52 เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณการหดตัวต่อเนื่อง แม้จะเริ่มมีสัญญาณหดตัวในอัตราที่ชะลอลง ขณะที่สัญญาณการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนยังคงมีความไม่แน่นอน ดังนั้น การเร่งใช้จ่ายของภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่การใช้จ่ายภาคเอกชนชะลอตัว

อุปสงค์ภายในประเทศด้านการบริโภคภาคเอกชนเริ่มหดตัวชะลอลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวต่อเนื่อง ส่วนอุปสงค์ภายนอกประเทศจากภาคการส่งออกยังคงหดตัวต่อเนื่อง แต่การนำเข้าที่หดตัวมากกว่าการส่งออกทำให้ดุลการค้ายังคงเกินดุลมาก

"ภาษีมูลค่าเพิ่มหดตัวร้อยละ -17.0 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราการหดตัวที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม สอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัวร้อยละ -14.3 ต่อปี ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -21.9 ต่อปี" โฆษก สศค.ระบุในเอกสารเผยแพร่

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกสะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง ขณะที่เสถียรภาพภายในประเทศยังมีความเสี่ยงจากอัตราการว่างงานที่ปรับตัวสูงขึ้น

การลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวลงต่อเนื่อง โดยปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนหดตัวที่ร้อยละ -25.5 ต่อปี ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่หดตัวร้อยละ -31.1 ต่อปี ขณะที่การลงทุนในหมวดการก่อสร้างจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวร้อยละ -7.2 ต่อปี สอดคล้องกับยอดขายปูนซีเมนต์ในเดือน เม.ย.52 ที่หดตัวร้อยละ -11.0 ต่อปี

ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลัง รัฐบาลเบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 161.0 พันล้านบาท ขยายตัวจากในช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อนในระดับสูงที่ร้อยละ 27.0% ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวของการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนเป็นสำคัญจำนวน 40.0 พันล้านบาท ขยายตัวถึงร้อยละ 244.4 ต่อปี ส่วนใหญ่เป็นการจัดสรรงบลงทุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) และงบลงทุนในโครงการเศรษฐกิจพอเพียง ขณะที่รายจ่ายประจำสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 114.8 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.9 ต่อปี ขณะที่มีรายได้สุทธิ 217.1 พันล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ -21.6 ต่อปี เนื่องจากการจัดเก็บรายได้จากภาษีเงินได้นิติบุคคลส่วนหนึ่งเลื่อนไปอยู่ในเดือน มิ.ย.52

ส่วนภาคอุปสงค์ต่างประเทศ มูลค่าการส่งออกและการนำเข้ายังคงหดตัวต่อเนื่อง แต่การที่มูลค่าการส่งออกหดตัวน้อยกว่าการนำเข้าส่งผลให้ดุลการค้ายังคงเกินดุลมาก การส่งออกในรายหมวดสินค้าเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะสินค้าหมวดอุตสาหกรรม หมวดยานพาหนะและหมวดสินค้าเกษตร เป็นต้น และสามารถขยายการส่งออกไปยังตลาดภูมิภาคและตลาดเกิดใหม่ ขณะที่ภาคอุปทานในส่วนของภาคอุตสาหกรรมมีการหดตัวที่ชะลอลง ขณะที่ภาคเกษตรและภาคบริการจากการท่องเที่ยวหดตัวเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกยังอยู่ในระดับแข็งแกร่ง โดยทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน พ.ค.52 อยู่ในระดับสูงที่ 121.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นเกินกว่า 5 เท่า ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศมีความเสี่ยงจากอัตราการว่างงานที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น โดยอัตราการว่างงานในเดือน เม.ย.52 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 ของกำลังแรงงานรวม ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.9 ของกำลังแรงงานรวม ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ที่ร้อยละ -3.3 ต่อปี โดยมีปัจจัยสำคัญจากราคาสินค้าและบริการหมวดพาหนะการขนส่งที่ปรับตัวลดลงจากราคาน้ำมันที่ลดลงจากปีก่อนหน้าเป็นสำคัญ

สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(GDP) ณ สิ้นเดือน เม.ย.52 อยู่ที่ร้อยละ 43.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 42.0 จากการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 52 แต่ยังอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ