นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดโครงการ"พี่เลี้ยงนักลงทุน AEC:การปรับตัวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" เพื่อกระตุ้นให้นักลงทุนและผู้ประกอบการของไทยให้เตรียมความพร้อมในการแสวงหาโอกาสจากการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการและการลงทุน หลังจากที่ประเทศอาเซียนได้มีการบรรลุข้อตกลงการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และจะมีการเปิดเสรีเต็มรูปแบบในปี 58
นางมณฑา ประณุทนรพาล ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) กล่าวว่า เมื่ออาเซียนเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว ผู้ประกอบการจะส่งออกสินค้าไปยังประเทศสมาชิกอาเซียนได้อย่างเสรี เนื่องจากการเคลื่อนย้ายสินค้าในกลุ่มทุนและบริการจะมีมากขึ้นจากการเปิดเสรีทางการค้าโดยไม่มีการกีดกั้นด้วยกำแพงภาษีนำเข้า
ทั้งนี้ สัดส่วนมูลค่าการส่งออกกว่า 20% มาจากผู้ประกอบการที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม จึงถือได้ว่าผู้ประกอบการในกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ และพร้อมที่จะนำเข้าและส่งออกเทคโนโลยีหรือองค์ความรู้ในการการผลิตที่สำคัญๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพการแข่งขัน นอกจากนี้บุคลากรของไทยที่มีความเชี่ยวชาญในวิชาชีพที่สนใจจะประกอบอาชีพในประเทศสมาชิกอาเซียนได้ง่ายขึ้น ทำให้มีโอกาสในการหางานและรายได้เพื่อดำเนินชีวิตได้มากขึ้น
"เป็นหน้าที่ของการนิคมอุตสาหกรรมที่จะผลักดันให้ผู้ประกอบการในนิคมฯ รับรู้ถึงข้อมูลเกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนให้มากที่สุด และเตรียมความพร้อมในการใช้ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้มีการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนให้นักลงทุนเข้าถึงได้ง่ายขึ้นผ่านเครือข่ายของการนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ และจะร่วมทำงานกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง" นางมณฑากล่าว
ปัจจุบัน มีนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด 38 แห่ง กระจายอยู่ใน 15 จังหวัดทั่วประเทศและกระจายอยู่ทั้ง 3 เขต ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยขณะนี้ในนิคมอุตสาหกรรมมีโรงงาน 3,142 โรงงาน มีการลงทุนประมาณ 1.8 ล้านบาท มีการจ้างงานประมาณ 450,000 คน