ดอยช์แบงค์คาดการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนปีหน้าชะลอตัว เหตุรบ.เลี่ยงใช้มาตรการกระตุ้นศก.เพิ่ม

ข่าวต่างประเทศ Monday June 29, 2009 10:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอยช์ แบงค์ เอจี คาดว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจของจีนในปีหน้าอาจจะชะลอตัวลง เนื่องจากรัฐบาลจีนเลี่ยงที่จะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงที่เกิดความขัดแย้งทางการเมือง เนื่องจากมีหลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยที่ตัวเลขขาดดุลการเงินที่สูงขึ้น

หม่า จุน นักเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวกับจีนของดอยช์แบงค์ กล่าวว่า นักลงทุนจำนวนมากเชื่อว่า รัฐบาลจีนจะสามารถดำเนินการทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้ อีกทั้งยังหวังว่า รัฐบาลจะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ในปีหน้า เพื่อที่เศรษฐกิจจะได้ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งผู้ที่ตั้งความหวังเหล่านี้คงจะต้องผิดหวังไปตามๆกัน

บลูมเบิร์กรายงานว่า ดัชนีหุ้นเซี่ยงไฮ้ดีดตัวขึ้น 61% แล้วในปีนี้ ซึ่งถือเป็นดัชนีที่ดีที่สุดเป็นอันดับ 3 ของดัชนีเบนช์มาร์ค 90 ดัชนีที่บลูมเบิร์กได้รวบรวมข้อมูล ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเริ่มส่งผลเป็นรูปธรรม

หม่าคาดว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 7.2% ในปีหน้า จากระดับปีนี้ที่ 7.5% เนื่องจากการผลิตที่สูงเกินไปในภาคการผลิตจะทำให้การลงทุนในภาคเอกชนลดลง

ธนาคารโลกเปิดเผยว่า การใช้จ่ายของรัฐบาลคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 4 ใน 5 ของการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปีนี้ ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 4 ล้านล้านหยวน หรือ 5.85 แสนล้านดอลลาร์นายกฯจีนได้ประกาศใช้เมื่อปีที่แล้ว และจะมีผลบังคับใช้ไปจนถึงปีหน้านั้น นับเป็นมาตรการที่กำลังช่วยหนุนการส่งออกของจีนที่ร่วงลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ มุมมองของนายหม่านั้นสวนทางกันกับการคาดการณ์ของธนาคารโลก องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD)และเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค ที่คาดว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนจะเพิ่มมากขึ้นจากปีนี้ไปจนถึงปีหน้า ขณะที่นายเจิ้ง เสเหว่ย อดีตรองประธานคณะกรรมการของสภาจีน กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศจะขยายตัว 8% ในปีนี้ และปี 2554 อีกกว่า 9%

นายหม่ากล่าวว่า การจัดทำงบประมาณเพื่อรองรับการขาดดุลทางการเงินที่สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 9.50 แสนล้านหยวน หรือเกือบ 3% ของ GDP เนื่องจากรายได้ที่ร่วงและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยธนาคารโลกคาดว่า เพดานจะอยู่ที่ 4.9% และตัวเลขการขาดดุลที่ 5% ถือเป็นตัวเลขที่เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น และการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมมากกว่า 5% ก็คาดว่าจะได้รับการคัดค้านอย่างหนักแน่นอน เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับความยั่งยืนด้านการเงินในระยะยาว



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ