นิด้าชี้ยังไร้สัญญาณศก.ฟื้น คาดGDPปีนี้-4%แนะรัฐเร่งลงทุนกระตุ้นบริโภค

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 29, 2009 13:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเอกชัย นิตยาเกษตรวัฒน์ คณบดี NIDA Business School เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวมอย่างชัดเจน แม้ในช่วงที่ผ่านมาจะมีตัวเลขการเพิ่มขึ้นของอัตราการผลิตและการจ้างงาน แต่การเพิ่มขึ้นดังกล่าวไม่ใช่มาจากความต้องการที่แท้จริง เป็นเพียงการผลิตเพื่อชดเชยความต้องการที่หยุดชะงักอย่างฉับพลันจากการตื่นตระหนกของภาคธุรกิจจากผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาในช่วงที่ผ่านมาเท่านั้น

เช่นเดียวกับเศรษฐกิจไทยที่แม้จะมองว่าได้เดินผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในช่วงไตรมาสแรก โดยมีอัตราการขยายตัวติดลบ 7.1% แต่โดยภาพรวมแล้วเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ถือว่ายังอยู่ในภาวะชะลอตัว เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งปี 52 คาดว่าติดลบในราว 4%

"เราคาดว่าจีดีพีไตรมาส 2 คงจะติดลบประมาณ 6.8% ส่วนไตรมาส 3 จะติดลบประมาณ 4.5% และอาจจะกลับขึ้นมาเป็นบวกได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายประมาณ 1.5% แต่โดยภาพรวมทั้งปี ก็คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยจะติดลบประมาณ 4%" นายเอกชัย กล่าว

สำหรับ พ.ร.ก. และ พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงของเศรษฐกิจไทย วงเงินรวมกว่า 8 แสนล้านบาทนั้น เชื่อว่าคงจะเริ่มเห็นผลทางเศรษฐกิจระยะแรกได้อย่างเร็วที่สุดคงจะเป็นช่วงปลายปีนี้ ดังนั้นรัฐบาลจะต้องใช้เม็ดเงินดังกล่าวให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าที่สุด โดยอันดับแรกต้องเร่งกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศเพื่อทดแทนการส่งออกและการบริโภคที่ชะลอตัวลงไปอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันจะต้องกระตุ้นโดยให้เกิดการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ และต้องเป็นโครงการที่จะให้ผลตอบแทนกลับมาอย่างคุ้มค่า เช่น โครงการระบบขนส่งและโลจิสติกส์ โครงการรถไฟฟ้าและรถไฟรางคู่ ตลอดจนโครงการระบบชลประทาน เป็นต้น

"การกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนนั้น รัฐบาลจะต้องรีบผลักดันให้เกิดโดยเร็ว และที่สำคัญการลงทุนจะต้องพิจารณาให้ดีว่าจะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับต้นทุนเงินที่กู้มาหรือไม่ ซึ่งรีเทิร์นตรงนี้ไม่ควรจะต่ำกว่าต้นทุนของเงินกู้ ซึ่งจะอยู่ในระดับประมาณ 4%"คณบดี NIDA Business School กล่าว

นายเอกชัย กล่าวว่า ภาครัฐต้องให้การช่วยเหลือด้านของสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs รวมไปถึงธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจบริการด้านสุขภาพ ซึ่งถ้ารัฐสามารถจัดการปัญหาภายในประเทศให้มีความสงบเรียบร้อย และความวิตกกังวลเรื่องไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 บรรเทาเบาลงก็จะทำให้ธุรกิจสามารถฟื้นตัวกลับมาได้โดยเร็ว

ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีผลกระทบกับเศรษฐกิจที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดต่อจากนี้ไปยังเป็นภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นต้นตอของวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ ส่วนภายในประเทศต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะการผลักดันมาตรการทั้งหมดไปสู่การปฏิบัติจริง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดรวมถึงความเสี่ยงจากเสถียรภาพเงินคงคลังของประเทศจากการกู้เงินเป็นจำนวนมากของรัฐบาล

นอกจากนี้ จะต้องติดตามในเรื่องของค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าจนเกินไป เพราะจะยิ่งซ้ำเติมให้กับผู้ประกอบการส่งออก รวมไปถึงทิศทางราคาน้ำมันซึ่งมีผลกระทบต่อภาคการผลิตและประชาชนจำนวนมาก



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ