เศรษฐกิจเวียดนามมีแววขยายตัวอย่างรวดเร็วที่ 4.5% ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้หลังจากที่ขยายตัวได้ 3.1% ในไตรมาสแรก ขณะที่กระทรวงการวางแผนและการลงทุนของเวียดนามเปิดเผยว่า เศรษฐกิจช่วงครึ่งแรกของปีขยายตัวที่ 3.9% จากปีก่อน ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะเป็นนิมิตรหมายที่ดีต่อภาพรวมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆในเอเชีย
โดยปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเวียดนาม ได้แก่ การกระตุ้นภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง รวมถึงการออกนโยบายของรัฐบาลในการช่วยเหลือด้านเงินกู้เพื่อกระตุ้นการขยายตัวของตลาดสินเชื่อ ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ก็อาจรายงานตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 ที่ดีเช่นกัน เนื่องจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ 2.2 ล้านล้านดอลลาร์จากทั่วโลกช่วยกระตุ้นยอดขายของบริษัทเอกชนในประเทศ
"เวียดนามและประเทศอื่นๆในเอเชียผ่านพ้นจุดเลวร้ายที่สุดไปแล้ว" นักวิเคราะห์จากเอเอ็นซี ในสิงคโปร์กล่าว "ขณะนี้ตลาดจะจับตาที่การประเมินความแข็งแกร่งในการฟื้นตัวและการประเมินถึงเวลาที่เศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง แต่ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่ออุปสงค์ต่างประเทศดีขึ้น ซึ่งวัดจากตัวเลขการใช้จ่ายในสหรัฐและยุโรป "
ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามได้ตั้งเป้าผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้ได้ที่ 5% ในปีนี้ ขณะที่กลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของ 30 ชาติสมาชิกเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี หลังเล็งเห็นว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกเริ่มดีขึ้น ส่วนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจออสเตรเลียในปีนี้และปีหน้าเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม นอกจากเวียดนามที่มีอัตราการขยายตัวสดใสในช่วงไตรมาส 2 แล้ว นักวิเคราะห์จากโพลล์บลูมเบิร์กคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวที่ 2.3% ต่อปีในไตรมาสแรก หลังหดตัว 14.2% ในไตรมาสแรก และกระทรวงการคลังของเกาหลีใต้คาดการณ์ว่าตัวเลข GDP จะเพิ่มขึ้นเกือบ 2% ในไตรมาสสองหลังจากที่ขยายตัว 0.1% ในไตรมาสแรก
ในส่วนของดัชนี MSCI Asia Pacific Index ซึ่งชี้วัดการซื้อขายในตลาดหุ้นเอเชียนั้นไต่ระดับขึ้น 47% นับตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค.ซึ่งเป็นช่วงที่ดัชนีดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดกว่า 5 ปี ขณะที่แนวโน้มผลประกอบการภาคเอกชนดีขึ้น ส่วนตลาดหุ้นเวียดนามทะยาน 64% ในไตรมาสนี้
อัลวิน เหลียว นักวิเคราะห์จากธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ในสิงคโปร์กล่าวผ่านทางบลูมเบิร์กว่า "หลายประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียต่างก้าวผ่านจุดต่ำสุดของวิกฤตการณ์ครั้งนี้มาได้แล้วและประเทศที่มีการขยายตัวแข็งแกร่งจะสามารถผลักดันเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้เร็วกว่าประเทศอื่นๆ เช่นเวียดนาม ที่แม้การส่งออกจะยังซบเซา แต่เศรษฐกิจยังมีแรงหนุนจากการใช้นโยบายกระตุ้นของรัฐบาล"
ทั้งนี้ เวียดนาม อินโดนีเซีย จีน และอินเดีย เป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวในแง่บวก ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ และเป็นประเทศที่มีสภาวะเศรษฐกิจดีกว่าประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก เพราะมีการบริโภคภายในประเทศที่แข็งแกร่งเป็นทุนเดิม