ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้เป็นต้นไป คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล หรือ พีซี ทุกเครื่องที่วางจำหน่ายในประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นเครื่อง “เมด อิน ไชน่า" หรือ “อิมพอร์ต"จากต่างประเทศ จะได้รับการติดตั้งซอฟท์แวร์ “Green Dam Youth Escort" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคัดกรองเว็บไซต์ที่มีเนื้อหา ภาพ และเสียงไม่เหมาะสม ตามชื่อของซอฟท์แวร์ที่มีความหมายตรงตัวว่า “เขื่อนสีเขียวปกป้องพิทักษ์เยาวชน"
ถ้ามองแบบผิวเผิน “คำขอร้องแกมบังคับ"ดังกล่าวโดยรัฐบาลจีนก็ดูเข้าท่าดี เพราะไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ย่อมไม่ต้องการให้ “อนาคตของชาติ" ถูกยั่วยุและถูกชักจูงให้ลุ่มหลงมัวเมาไปกับภาพลามกอนาจารและความรุนแรงที่มาทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าเป็นสื่อที่ควบคุมยากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อศูนย์ข้อมูลเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของจีนระบุว่า ปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดในโลก ด้วยจำนวนเกือบ 3 ล้านคน
แต่หากมองให้ลึกลงไป กลับกลายเป็นว่าแผนการดังกล่าวน่าจะเข้าข่าย “หวังดีประสงค์ร้าย" มากกว่า โดยหลายฝ่ายเชื่อว่านี่อาจเป็นเครื่องมือล่าสุดของจีนซึ่งหมายที่จะแผ่ขยายอิทธิพลควบคุมอินเทอร์เน็ตให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ทั้งที่ปัจจุบัน รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนก็ได้ชื่อว่ามีระบบติดตามตรวจสอบอินเทอร์เน็ตที่กว้างขวางครอบคลุมกว่าประเทศอื่นใดในโลกจนได้รับฉายา “Great Firewall of China" แถมยังสั่งบล็อกหรือปิดเว็บไซต์ที่เห็นว่านำเสนอข้อมูลที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองและอาจเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงเป็นปึกแผ่นของรัฐบาลคอมมิวนิสต์อย่างไม่ลังเลใจ จนองค์การนิรโทษกรรมระบุว่า จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นศัตรูกับอินเทอร์เน็ต
เสียงโอดครวญหลังม่านไม้ไผ่
โครงการ “เขื่อนสีเขียว" ได้กลายเป็นเรื่องเด่น ประเด็นร้อนทั่วแดนมังกรขึ้นมาทันที เมื่อกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (MIIT) ได้แนะนำให้รู้จักกับซอฟท์แวร์ดังกล่าวเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา พร้อมบรรยายสรรพคุณของซอฟท์แวร์ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยบริษัทระบบวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จินฮุ่ยว่า สามารถบล็อกเว็บไซต์ที่ปรากฏภาพลามกอนาจารและยั่วยุอารมณ์รุนแรง อีกทั้งยังจะช่วยให้ผู้ปกครองสามารถกำหนดระยะเวลาที่ลูกๆหลานๆจะใช้เวลาอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ได้ด้วย
เพื่อป้องกันคำครหา รัฐบาลจีนรีบออกตัวว่าไม่ได้เจ้ากี้เจ้าการออกคำสั่งนี้ขึ้นมาตามอำเภอใจ แต่เป็นเพราะได้รับการร้องเรียนจากโรงเรียนและบรรดาผู้ปกครอง แถมสำทับด้วยรายงานล่าสุดที่จัดทำขึ้นโดยศูนย์วิจัยเด็กและเยาวชนของจีนที่ชี้ว่า ประมาณ 48% ของเด็กและเยาวชนชาวจีนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะล้วนแต่เคยแวะเวียนเข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ล่อแหลม ซึ่งรายงานระบุว่ามีเป็นล้านๆหรืออาจจะมากถึงสิบล้านเว็บเพจเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม มีชาวจีนไม่มากนักที่ซาบซึ้งถึงความหวังดีของรัฐบาล และยังลังเลว่าจะติดตั้งซอฟท์แวร์เขื่อนสีเขียวดีหรือไม่
หม่า จิงจิง พนักงานบริษัทต่างชาติแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง เผยกับสำนักข่าวซินหัวว่า เธออาจจะลองติดตั้งซอฟท์แวร์ดังกล่าวกับเครื่องพีซีที่บ้าน เพราะเธอก็มีลูกชายวัย 7 ขวบอยู่คนหนึ่ง แต่เธอไม่คิดว่าซอฟท์แวร์กรองเว็บไซต์เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับเครื่องคอมฯที่ทำงานซึ่งมีระบบซอฟท์แวร์เพื่อปกป้องความลับทางธุรกิจของบริษัทอยู่แล้ว
“ฉันยังกังวลว่าซอฟท์แวร์จะรบกวนการทำงานตามปกติของเครื่องคอมฯของฉัน" เธอกล่าว
ด้านหม่า เผิงเฟย เจ้าของธุรกิจคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในเขตจงกวนชุน ซึ่งเป็นศูนย์กลางตลาดดิจิตอลของจีนในย่านชานกรุงปักกิ่ง กล่าวว่า “มีลูกค้าไม่กี่รายที่สอบถามเกี่ยวกับซอฟท์แวร์เขื่อนสีเขียว และมีไม่กี่รายที่บอกว่าพวกเขาจะติดตั้ง"
นายหม่าระบุว่า เจตนาแรกเริ่มเดิมทีของรัฐบาลนั้นก็ดีอยู่ แต่ไม่เหมาะสมที่รัฐบาลจะตบโต๊ะเปรี้ยงสั่งการดังกล่าวขณะที่ยังมีประชาชนรู้เรื่องซอฟท์แวร์ในวงจำกัดเท่านั้น
หยู กั๊วะหมิง อาจารย์มหาวิทยาลัยเหรินหมินของจีน กล่าวว่า สาเหตุที่ประชาชนนิ่งเฉย ไม่แสดงความเดือดเนื้อร้อนใจที่จะติดตั้งซอฟท์แวร์ ก็เพราะสัดส่วนประชากรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะนั้น มีอยู่ไม่ถึง 1 ใน 4 ของชาวจีนทั้งประเทศ พวกเขาจึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องติดตั้งซอฟท์แวร์กรองเว็บไซต์บนคอมพิวเตอร์ทุกเครื่อง โดยทางที่ดี รัฐบาลควรติดตั้ง “เขื่อนสีเขียว" บนคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในสถานที่สาธารณะ อาทิ พิพิธภัณฑ์ โรงเรียน และห้องสมุด ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลมากกว่า
ขณะเดียวกัน บีบีซีรายงานว่า ได้มีการยื่นเรื่องถึง MIIT เพื่อขอให้มีการจัดเวทีเสวนาสาธารณะเกี่ยวกับความชอบธรรมตามกฎหมายของคำสั่งดังกล่าว รวมทั้งมีผู้ใช้เน็ตนับหมื่นคนได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ที่ผุดขึ้นท้าทายอำนาจรัฐอย่างลับๆ
การวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงการร้องเรียนให้รัฐบาลฉีกแผนดังกล่าวทิ้ง ได้ลุกลามแผ่ขยายออกไปเป็นวงกว้าง แม้กระทั่งสื่อจีนที่ปกติเป็นกระบอกเสียงและหนุนหลังรัฐบาลแทบจะทุกเรื่อง แต่คราวนี้กลับขอที่จะเลือกอยู่ฝั่งตรงข้าม อาทิ นสพ. ไชน่า เดลี่ ที่ตีพิมพ์บทความวิพากษ์นโยบายดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
พบ "รูรั่ว" บนเขื่อนสีเขียว
นอกจากถูกวิจารณ์เละเรื่องการปิดกั้นเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารแล้ว “เขื่อนสีเขียว" ยังถูกสับแหลกว่ามีข้อบกพร่องทางด้านเทคนิคหลายจุด ดังเห็นได้จากหลักฐานยืนยันทั้งในและต่างประเทศ
เริ่มที่รายงานจากคณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยมิชิแกนในสหรัฐอเมริกาซึ่งชี้ว่า ซอฟท์แวร์ “กรีนแดม" มีการเขียนโปรแกรมที่ไม่ปลอดภัยและล้าสมัย ซึ่งอาจทำให้พีซีตกเป็นเป้าของการโจมตีและล้วงข้อมูลจากแฮคเกอร์ผู้เจาะระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ ซอฟท์แวร์ที่มีช่องโหว่ดังกล่าวอาจปล่อยปละละเลยให้พีซีไปดาวน์โหลดไวรัสคอมพิวเตอร์ หนอนคอมพิวเตอร์ และโค้ดร้ายที่เป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดีมาลงที่เครื่องได้
ต่อกันด้วยการทดสอบการทำงานของซอฟท์แวร์โดยผู้ใช้งานในประเทศ ซึ่งผลที่ได้ก็สอดคล้องกับผลวิจัยในต่างประเทศ เมื่อปรากฏว่าการเขียนโปรแกรมที่อ่อนด้อยทำให้ซอฟท์แวร์เผลอไปบล็อกการ์ตูน รูปสัตว์ และภาพอื่นๆที่ไม่เป็นพิษเป็นภัย ตัวอย่างหนึ่งได้แก่การใช้ “กรีนแดม" ทดสอบภาพตัวการ์ตูนแมวเหมียวขวัญใจทั้งเด็กและผู้ใหญ่: โดราเอมอน และ การ์ฟิลด์ ผลปรากฏว่าภาพโดราเอมอนปลอดภัยไม่ถูกบล็อก แต่ภาพการ์ฟิลด์ถูกบล็อกเป็นบางครั้ง ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะเจ้าแมวการ์ฟิลด์มีสีเหลืองส้ม เนื่องจากซอฟท์แวร์กรีนแดมถูกป้อนโปรแกรมว่า ภาพที่มีพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาพเป็นสีเหลืองถือเป็นภาพลามก
ตบท้ายด้วยพยานปากเอกเป็นวิศวกรของ MIIT ซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อเสียงเรียงนาม โดยเขาได้เอ่ยปากยอมรับว่า กระทรวงฯได้มอบหมายให้ทีมงานแก้ไขข้อผิดพลาดต่างๆของซอฟท์แวร์กรีนแดม ขณะที่หม่า เผิงเฟย เจ้าของกิจการคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลกล่าวว่า “ต้องใช้เวลาอีกนานกว่าที่ MITT จะสามารถพัฒนาและปรับปรุงเทคนิคของซอฟท์แวร์ให้ได้มาตรฐาน"
นอกจากนี้ อีกข้อกล่าวหาหนึ่งซึ่งดูเหมือนจะอยู่คู่กับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอุตสาหกรรมของจีนตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา นั่นก็คือการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อบริษัทโซลิด โอ๊ค ซอฟท์แวร์ ในแคลิฟอร์เนีย ออกมาโวยว่า ได้ตรวจพบโค้ดหรือชุดคำสั่งในการเขียนซอฟท์แวร์บางส่วนของโปรแกรมเซ็นเซอร์เว็บไซต์อนาจารของบริษัท ปรากฏอยู่บนชุดคำสั่งซอฟท์แวร์กรีนแดมของจีน ขณะบ.จินฮุยยืนยันหนักแน่นว่าไม่ได้ก๊อปปี้ชุดคำสั่งมาจากใคร… แล้วคุณจะเชื่อใคร?
สงครามการค้า
ประเด็นร้อนล่าสุดนี้ ไม่ได้ถูกล้อมกรอบให้อยู่แต่ภายในประเทศจีนเท่านั้น แต่ยังจุดกระแสวิจารณ์จากโลกภายนอก นำโดย สหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นไม้เบื่อไม้เมากับจีนมาโดยตลอด เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา แกรี่ ล็อค รัฐมนตรีพาณิชย์ของสหรัฐ และรอน เคิร์ก ผู้แทนการค้าสหรัฐ ได้ส่งหนังสือร่วมถึงรมว.พาณิชย์และผู้แทนการค้าจีน ชี้ให้เห็นว่าการดำเนินการของทางการจีนได้ก่อให้เกิดความเคลือบแคลงเกี่ยวกับความโปร่งใสของจีนในด้านการกำกับดูแล และอาจเป็นการละเมิดกฎระเบียบทางการค้าขององค์การการค้าโลกอย่างร้ายแรงได้
ผู้แทนการค้าสหรัฐตำหนิว่า จีนกำลังบีบให้บริษัทต่างๆทำอะไรไม่ถูกเนื่องจากไม่มีการแจ้งล่วงหน้าอย่างเป็นเรื่องเป็นราว พร้อมกล่าวว่าการปกป้องเด็กๆจากเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมเป็นวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่วิธีการที่นำมาใช้ไม่เหมาะสมและมีขอบเขตที่กว้างเกินไป
นักวิเคราะห์มองว่า การที่รัฐบาลสหรัฐออกโรงงัดข้อกับจีนในครั้งนี้ อาจทำให้สงครามการค้าระหว่างสองประเทศขยายวงกว้างออกไป ไล่เรียงตั้งแต่ความปลอดภัยของคอมพิวเตอร์ ไปจนถึงการนำเข้าไก่ เนื่องจากก่อนหน้านี้เพียงหนึ่งวัน รัฐบาลสหรัฐเพิ่งจับมือกับสหภาพยุโรป (EU) ยื่นฟ้ององค์การการค้าโลก (WTO) กรณีที่จีนใช้กฎหมายที่เข้มงวดและไม่เป็นธรรมต่อการส่งออกวัตถุดิบเพื่อเอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมในประเทศ แต่ขณะเดียวกันก็สร้างความเดือดร้อนให้กับบริษัทต่างชาติที่เป็นคู่แข่ง
และภายหลังจากที่มีการประท้วงอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลสหรัฐได้ไม่นาน บรรดากลุ่มการค้าและหอการค้าต่างๆรวม 22 กลุ่ม ซึ่งเป็นตัวแทนของซัพพลายเออร์เทคโนโลยีรายใหญ่ของโลก ได้รวมตัวยื่นหนังสืออุทธรณ์ต่อนายกรัฐมนตรีเหวิน เจียเป่า ของจีน เพื่อเพิ่มแรงกดดันให้รัฐบาลจีนยกเลิกคำสั่ง หรืออย่างน้อยก็พิจารณาทบทวนเรื่องดังกล่าวใหม่อีกครั้ง
หนังสือร้องเรียนลงชื่อประธานหอการค้าอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นในประเทศจีน ระบุในตอนหนึ่งว่า “ซอฟท์แวร์เขื่อนสีเขียวได้ทำให้เกิดข้อกังขาเกี่ยวกับความปลอดภัย ความน่าเชื่อถือของระบบ การไหลเวียนของข้อมูลอย่างอิสระ และทางเลือกของผู้ใช้"
ทั้งนี้ การยื่นเรื่องโดยตรงถึงผู้นำจีนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแทบจะนับครั้งได้ในระบอบการปกครองที่มีพรรคการเมืองเดียวปกครองประเทศ ซึ่งบริษัทต่างๆมักจะหลีกเลี่ยงการมีปากมีเสียงกับรัฐบาล เนื่องจากเกรงว่าอาจถูกตอบโต้ด้วยวิธีการต่างๆ นานาได้
จีนแก้ต่าง
เสียงวิพากษ์วิจารณ์หลายหลากดังแว่วเข้าหูรัฐบาลจีนจนต้องออกมาแก้ตัว หรือพูดให้ดูดีหน่อยว่าแก้ไขความเข้าใจผิดของประชาชนในประเทศและประชาคมโลก โดย ฉิน กัง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า รัฐบาลจีนผลักดันการพัฒนาอินเทอร์เน็ตที่เอื้อประโยชน์ และบริหารจัดการอินเทอร์เน็ตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ขณะที่ หลิว หลี่หัว โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้แถลงอย่างไม่เป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเหมือนจะเป็นการยอมถอยให้ผู้ใช้ก้าวหนึ่ง โดยระบุว่าการติดตั้งซอฟท์แวร์ “เขื่อนสีเขียว" ไม่ใช่คำสั่ง เนื่องจากผู้ใช้สามารถปิดและถอนการติดตั้งโปรแกรมได้
อย่างไรก็ดี ผู้ผลิตยังคงต้องติดตั้งซอฟท์แวร์ดังกล่าวต่อไป
ด้านจาง เฉินหมิน ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท จินฮุย คอมพิวเตอร์ ซิสเต็ม เอนจิเนียริง จำกัด ผู้พัฒนา “กรีนแดม" กล่าวว่า ซอฟท์แวร์ดังกล่าวเป็นเพียงวิธีหนึ่งในการเสนอทางเลือกให้แก่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะผู้ปกครองที่มีบุตรหลานอยู่ในวัยที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ พร้อมยืนยันว่าซอฟท์แวร์ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อการค้า ไม่ได้ถูกใช้เพื่อสอดแนมข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ และรัฐบาลก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แต่อย่างใด
ผู้ผลิตพีซีกับความหวังเลือนลาง
แหล่งข่าวเผยว่า ในขณะที่เหลือเวลาอีกไม่ถึง 24 ชั่วโมงก่อนที่จะถึงกำหนดเส้นตายในการปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลจีน ผู้ผลิตพีซีท็อป 3 ของโลกได้แก่ เดลล์ เอชพี และเอเซอร์ ก็ยังคงวิ่งเต้นเพื่อหวังให้จีนเปลี่ยนใจในวินาทีสุดท้าย ขณะเดียวกันก็ต้องก้มหน้าก้มตาทำตามคำสั่ง เพราะคงไม่มีใครหาญกล้าขัดขืนรัฐบาลจีนที่อาจแก้เผ็ดผู้ที่คิดเดินออกนอกลู่นอกทาง ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียส่วนแบ่งตลาดที่สำคัญที่สุดและใหญ่ที่สุดในเวลานี้อย่างจีนก็เป็นได้
โดยจีนถือเป็นอู่ข้าวอู้น้ำของบรรดาผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ ทั้งในแง่ของการเป็นสถานที่ผลิตหลัก และการเป็นตลาดที่เติบโตเร็วที่สุด คิดเป็นสัดส่วนถึง 80% ของผลผลิตและยอดขายทั่วโลก ซึ่งอยู่ที่ระดับ 1.47 แสนล้านหยวน (2.1 หมื่นล้านดอลลาร์) หรือพุ่งขึ้น 12.8% จากปี 2550
มาถึงตอนนี้ ความหวังที่รัฐบาลจีนจะยอมล้มเลิกแผนการดังกล่าวริบหรี่เต็มที ก็คงได้แต่นับถอยหลังรอดูว่า จะเกิดผลพวงอะไรตามมาบ้าง เมื่อคำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในวันพรุ่งนี้