โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป กำลังพิจารณาว่าจะบริหารโรงงานในแคลิฟอร์เนียต่อไปตามลำพังหรือไม่ หลังจากที่ เจนเนอรัล มอเตอร์ส คอร์ป (จีเอ็ม) ถอนตัวจากการร่วมทุน
"การปิดโรงงานก็ถือเป็นทางเลือกหนึ่ง" เจ้าหน้าที่อาวุโสของโตโยต้า กล่าว
การที่จีเอ็มถอนตัวออกจากบริษัทร่วมทุนในชื่อ นิว ยูไนเต็ด มอเตอร์ มานูแฟคเจอริ่ง อิงค์ (NUMMI) ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2527 ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิรูปองค์กรของจีเอ็ม
โตโยต้าต้องตัดสินใจให้ได้ว่าจะทำเช่นไรภายในเดือนก.ค. ก่อนที่จีเอ็มจะยุติการผลิตรถปอนเทียคที่โรงงานดังกล่าวในสิ้นเดือนส.ค.นี้ ซึ่งหากโตโยต้าตัดสินใจทำโรงงานต่อ โตโยต้าก็ต้องซื้อหุ้นทั้งหมดที่จีเอ็มถือครองอยู่
แหล่งข่าวรายหนึ่งระบุว่าโตโยต้าคงลำบากใจหากต้องทำโรงงานต่อ เนื่องจากปัจจุบันจำนวนรถที่ผลิตได้ก็ล้นตลาดอยู่แล้ว นอกจากนั้นบริษัทยังขาดทุนเนื่องจากตลาดยานยนต์ซบเซา อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารของโตโยต้าซึ่งไม่เคยปิดโรงงานในญี่ปุ่นหรือในต่างประเทศมาก่อน ก็กำลังวิตกว่าการปิดโรงงานอาจส่งผลกระทบต่อแรงงาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับสหรัฐในที่สุด
ทั้งนี้ NUMMI เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้โตโยต้าขยายตลาดมายังสหรัฐได้ นอกจากนั้นยังถือเป็นจุดเปลี่ยนในอาชีพของซีอีโอโตโยต้าหลายคน ซึ่งรวมถึงนายอากิโอะ โตโยดะ ประธานคนปัจจุบันด้วย สำนักข่าวเกียวโดรายงาน