(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน มิ.ย.52 ลดลง 4.0%, Core CPI ลดลง 1.0%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 1, 2009 11:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI) ในเดือน มิ.ย.52 อยู่ที่ 104.7 ลดลง 4.0% จากเดือน มิ.ย.51 แต่เพิ่มขึ้น 0.4% จากเดือน พ.ค.52 ส่วน CPI เฉลี่ยช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-มิ.ย. 52) ลดลง 1.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI)ไม่รวมหมวดสินค้าอาหารสดและพลังงานในเดือน มิ.ย.52 อยู่ที่ระดับ 102.5 ลดลง 1.0% จากเดือน มิ.ย.51 แต่เพิ่มขึ้น 0.2% จากเดือน พ.ค.52 และ Core CPI เฉลี่ยช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.52) ยังเพิ่มขึ้น 0.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มในเดือน มิ.ย.52 อยู่ที่ 116.4 ลดลง 0.4% จากเดือน พ.ค.52 แต่สูงขึ้น 3.8% จาก มิ.ย.51 ขณะที่ดัชนีหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 97.2 เพิ่มขึ้น 1.0% จาก พ.ค. 52 แต่ลดลง 9.4% จาก มิ.ย.51

*เงินเฟ้อเทียบเดือนต่อเดือนสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมัน

นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ตัวเลข CPI เฉลี่ยย้อนหลัง 12 เดือนที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 มีสาเหตุสำคัญมาจากการดัชนีราคาหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร(ค่าน้ำมัน และค่าโดยสารสาธารณะ) ที่ลดลงถึง 17.5% ส่วนหมวดบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา(ค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือ) ลดลง 10% และหมวดเคหะสถาน(ค่ากระแสไฟฟ้า น้ำประปา) ลดลง 5% เป็นต้น

ส่วนการที่ CPI เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่าสูงขึ้น 0.4% มีสาเหตุสำคัญมาจากราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยภายในประเทศที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก รวมทั้งรัฐบาลได้ลดการสนับสนุนมาตรการช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนกี่ยวกับการให้เงินอุดหนุนค่าสาธารณูปโภคลงในพื้นที่บางจังหวัด และการปรับสูงขึ้นของราคาบุหรี่ สุรา และ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อื่นๆ จากภาษีสรรพสามิตของรัฐบาลที่มีผลตั้งแต่เดือนก่อนหน้า

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า แม้อัตราเงินเฟ้อของไทยจะติดลบต่อเนื่องกันถึง 6 เดือน แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจของไทยยังไม่อยู่ในภาวะเงินฝืด เพราะการจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดตามทฤษฎีนั้นนอกจากจะดูว่าอัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างต่อเนื่องแล้ว ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคยังต้องปรับลดลงต่อเนื่องด้วย แต่ปัจจุบันพบว่าราคาสินค้าในท้องตลาดมีทั้งปรับเพิ่มขึ้นและลดลง ถือว่าไม่เข้าข่ายเป็นภาวะเงินฝืด(Deflation)แต่เป็นเพียงแค่ภาวะเงินเฟ้อที่ลดลงเรื่อย ๆ (Disinflation)เท่านั้น

*คาดเงินเฟ้อเดือน ก.ค.ยังติดลบต่อ แต่จะหันกลับเป็นบวกในเดือนส.ค.

นายศิริพล คาดว่า ทิศทางเงินเฟ้อในเดือน ก.ค.52 จะเริ่มติดลบน้อยลง และจะเริ่มกลับมาเป็นบวกได้ตั้งแต่เดือน ส.ค.เป็นต้นไป เนื่องจากแนวโน้มราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น โดยทั้งปีกระทรวงพาณิชย์ยังคาดว่าเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับ 0-0.5% ภายใต้สมมติฐานที่ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีที่ 35-36 บาท/ดอลลาร์ และน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีที่ 60-70 ดอลลาร์/บาร์เรล

"การจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดได้นั้น นอกจากอัตราเงินเฟ้อจะต้องลดลงอย่างต่อเนื่องแล้ว ราคาสินค้าในท้องตลาดต้องลดลงด้วย แต่ตอนนี้สินค้ามีทั้งราคาขึ้นและลง ซึ่งไม่เข้าข่ายการเป็น Deflation แต่เป็นแค่ Disinflation เท่านั้น...และคาดว่าเดือนก.ค.เงินเฟ้อจะยังลดลง แต่ ส.ค. หรือ ก.ย.จะดีขึ้น" ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ คาดว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.ค.52 จะติดลบน้อยลง โดยอาจจะติดลบที่ 2-3% เนื่องจากในช่วงเดียวกันของปีก่อนรัฐบาลเริ่มออกมาตรการลดค่าครองชีพให้กับประชาชนทั้งค่าประปา ค่าไฟฟ้า ค่าขนส่ง และเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อน่าจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้เล็กน้อยตั้งแต่เดือนส.ค.เป็นต้นไป

อย่างไรก็ดี การคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 52 ของกระทรวงพาณิชย์ยังคงไว้ที่ 0-0.5% ยังไม่ได้รวมปัจจัยเรื่องการต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพให้แก่ประชาชนจากที่จะสิ้นสุดในเดือน ก.ค.ปีนี้ไว้ด้วย เพราะหากรัฐบาลต่ออายุมาตรการดังกล่าวออกไปอีกก็คาดว่าจะทำให้เงินเฟ้อในปีนี้ลดลงจากเป้าหมายที่ตั้งไว้เล็กน้อย

"เป้าที่ตั้งไว้ 0-0.5% ยังไม่ได้รวมกรณีที่รัฐบาลจะต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพไว้ ซึ่งหากรัฐบาลจะต่ออายุโครงการนี้ออกไปอีก เงินเฟ้อปีนี้ก็อาจจะติดลบนิดหน่อย"แหล่งข่าว กล่าว

สำหรับอัตราเงินเฟ้อของประเทศอื่น ๆ ในเดือนพ.ค.52 พบว่า มาเลเซีย เพิ่มขึ้น 2.4%, ฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้น 3.3%, อินโดนีเซีย เพิ่มขึ้น 6%, สิงคโปร์ ลดลง 0.3%, จีน ลดลง 1.4%, เวียดนาม เพิ่มขึ้น 5.6% และสหรัฐอเมริกา ลดลง 1.3%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ