นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ(ครม.เศรษฐกิจ)วันนี้ นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลังรายงานว่าขณะนี้สถานการณ์การคลังเริ่มปรับตัวดีขึ้นอาจจะทำให้กระทรวงฯ กู้เงินเพื่อชดเชยเงินคงคลังตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ในไตรมาส 4/52 เพียง 1.0-1.2 แสนล้านบาทเท่านั้น ต่ำกว่าที่เคยประมาณการไว้ว่าจะต้องกู้ 2 แสนล้านบาท
ส่วนการกู้เงินตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งอาจต้องกู้เงินประมาณ 600,000 ล้านบาท แยกเป็นการกู้เงินในปี 52 ประมาณ 30,000 ล้านบาท, ปี 53 ประมาณ 170,000 ล้านบาท, ปี 54 ประมาณ 200,000 ล้านบาท และ ปี 55 ประมาณ 200,000 ล้านบาท ซึ่งวงเงินที่ต้องใช้สนับสนุนโครงการต่างๆ ภายใต้แผนปฎิบัติการไทยเข้มแข็งขณะนี้อยู่ที่ระดับ 540,000 ล้านบาท โดยโครงการที่กำหนดว่าจะต้องใช้เงินตราต่างประเทศก็จะขอให้กระทรวงการคลังพิจารณาการกู้เงินในประเทศก่อนเป็นอันดับแรก
ทั้งนี้ การกู้เงิน ตาม พ.ร.ก.และ พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ควรพิจารณาตามความจำเป็นในแต่ละช่วงเวลาต่อไป
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้รายงานการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล 8 เดือนแรกปีงบประมาณ 52 (ต.ค.51-พ.ค.52) อยู่ที่ 874,678 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 11.1% การเบิกจ่ายงบประมาณมีทั้งสิ้น 1.274 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราเบิกจ่าย 60.3%ของวงเงินงบประมาณ ฐานะเงินคงคลัง พ.ค.52 อยู่ที่ 101,719 ล้านบาท
การคาดการณ์ฐานะการคลังตลอดปีงบประมาณ 52 คาดว่ารัฐบาลจะจัดเก็บรายได้สุทธิ 1.348 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 255,690 ล้านบาท คิดเป็น 15.9% โดยช่วงที่เหลือของปี คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มจากการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต เบียร์ สุรา น้ำมัน และยาสูบ การเบิกจ่ายงบประมาณทั้งปี คาดว่าจะอยู่ที่ 94%
ส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณกลางปี 52 ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 16 โครงการ ตั้งแต่ 9 มี.ค.-26 มิ.ย.52 มีการเบิกจ่ายงบประมาณแล้ว 53,638 ล้านบาท คิดเป็น 45.96% ของวงเงินงบประมาณ 116,700 ล้านบาท โดยโครงการที่มีการเบิกจ่ายงบประมาณต่ำ คือ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ โครงการพัฒนาสถานีอนามัย และโครงการสร้างถนนในหมู่บ้าน ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการเบิกจ่ายให้ได้ตามเป้าหมาย
ธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานภาวะตลาดเงินช่วงวันที่ 10-30 มิ.ย.52 เงินบาท เคลื่อนไหวอยู่ในช่วงแคบ ระหว่าง 34.03-34.23 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับคู่แข่ง และดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับลดลงจากการเทขายทำกำไร ขณะที่ผลประมูลพันธบัตรรัฐบาลได้รับความสนใจเป็นอย่างดี ธนาคารพาณิชย์ มีการปรับอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ (Spread) และยังคงมีสินทรัพย์สภาพคล่องสูงคิดเป็น 4-5 เท่าของสินทรัพย์ที่ต้องดำรงตามกฎหมาย เงินทุนเคลื่อนย้าย อยู่ในระดับปกติใกล้เคียงช่วงที่ผ่านมา ดุลบัญชีเดินสะพัด ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เกินดุล 10,000 ล้านดอลลาร์ และดุลบริการหดตัว จากรายรับด้านการท่องเที่ยวลดลง