ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์ร่วงหนัก หลังจีนเล็งชูประเด็นสกุลเงินใหม่ในที่ประชุม G8

ข่าวต่างประเทศ Thursday July 2, 2009 07:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงงเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโร ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (1 ก.ค.) เพราะได้รับแรงกดดันจากข่าวที่ว่าจีนเรียกร้องให้มีการอภิปรายเรื่องการใช้สกุลเงินใหม่แทนสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในการประชุมสุดยอด G8

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลง 1% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ 1.0746 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับของวันอังคารที่ 1.0855 ฟรังค์/ดอลลาร์ แต่ดีดตัวขึ้น 0.33% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ 96.630 เยน/ดอลลาร์ จากระดับ 96.310 เยน/ดอลลาร์

ค่าเงินยูโรพุ่งขึ้น 0.82% แตะที่ 1.4148 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับ 1.4033 ดอลลาร์/ยูโร และค่าเงินปอนด์ขยับขึ้น 0.08% แตะที่ 1.6476 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.6463 ดอลลาร์/ปอนด์

ส่วนค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียขยับขึ้น 0.04% แตะที่ 0.8070 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 0.8067 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์พุ่งขึ้น 1.04% แตะที่ 0.6390 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.6457 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงกดดันอย่างหนัก หลังจากมีข่าวว่าธนาคารกลางจีนเรียกร้องให้มีการอภิปรายเรื่องการใช้สกุลเงินใหม่แทนสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในการประชุมสุดยอด G8

ขณะที่ค่าเงินยูโรพุ่งขึ้นหลังจากมีรายงานว่า ภาคการผลิตในเขตยูโรโซนหดตัวลงน้อยกว่าคาด ในเดือนมิ.ย. แต่มีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างประเทศต่างๆ โดยภาค การผลิตของเยอรมนีล้าหลังประเทศอื่นๆ โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของยูโรโซนซึ่งจัดทำโดย Markit เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 42.6 จุด ในเดือนมิ.ย. จากเดือนพ.ค.ที่ 40.7 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.ปีที่แล้วและสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 42.4 จุด

คณะกรรมาธิการยุโรปเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจของทั้งผู้บริหารและผู้บริโภคใน 16 ประเทศที่ใช้เงินยูโรปรับตัวสูงขึ้นแตะ 73.3 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.ปีที่แล้ว จาก 70.2 จุดในเดือนพ.ค. นอกจากนั้นยังสูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าจะอยู่ที่ 71 จุด

นักลงทุนจับตาดูการประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ในวันพฤหัสบดีนี้ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอีซีบีจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิม พร้อมกับส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจใน 16 ประเทศของยุโรปยังคงมีเสถียรภาพ หลังจากรัฐบาลยุโรปอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินและลดอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ