เศรษฐกิจออสเตรเลียอาจประสบภาวะชะงักงัน หลังจากที่มีการรายงานตัวเลขส่งออกที่ตกลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 14 เดือน ขณะที่ยอดการปล่อยเงินกู้ของธนาคารก็ลดลง รวมถึงสถิติการอนุมัติสร้างบ้านใหม่ก็หดตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2545
ทั้งนี้ ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศ ซึ่งนับรวมถึงจีนและอินเดีย ที่เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวในไตรมาส 1 หลังจากที่รัฐบาลได้แจกเงินสดให้ประชาชน รวมถึงธนาคารกลางออสเตรเลียเองก็ได้ลดดอกเบี้ยลงมากเป็นประวัติการณ์ โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1 ปีนี้ขยายตัว 0.4% สวนทางกับ GDP ญี่ปุ่นที่อ่อนตัวลง 3.8% และสหรัฐที่หดตัว 1.4%
ข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าวชี้ว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยกำลังส่งผลกระทบต่อความพยายามที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลหลายประเทศ ซึ่งสถานการณ์ล่าสุดนี้อาจจะทำให้ธนาคารกลางออสเตรเลียตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยลงอีก โดยนายเกลน สตีเวนส์ ผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลีย กล่าวก่อนหน้านี้ว่า การขยายตัวที่ชะลอตัวลงและเงินเฟ้อที่ชะลอตัวนี้ทำให้ธนาคารมีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยลงอีก หากว่าการลดดอกเบี้ยนี้จะช่วยบรรเทาคววามผันผวนลงได้
บลูมเบิร์กรายงานว่า ซู ลิน ออง นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของอาร์บีซี แคปิตอล มาร์เก็ตส์ กล่าวว่า ผลกระทบที่รุนแรงจากจุดต่ำสุดของภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยที่มีต่อเศรษฐกิจออสเตรเลียนั้นยังไม่สิ้นสุดลง รายได้จากการส่งออกก็มีแนวโน้มที่จะอ่อนตัวลงในปีนี้
เงินดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลงไป 1.8% เมื่อวานนี้ หลังจากที่รัฐบาลเปิดเผยยอดการส่งออกที่ร่วงลง 5% ในเดือนพ.ค.จากระดับเดือนเม.ย. ขณะเดียวกันยอดขาดดุลการค้าก็ขยายตัวขึ้นมาอยู่ที่ 556 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย
การนำเข้าสินค้าทุน ซึ่งนับรวมถึงรถบรรทุกและเครื่องจักรนั้น ร่วงลง 14% ซึ่งถือเป็นอีกสัญญาณบ่งชี้ว่า บริษัทต่างๆกำลังลดการใช้จ่ายด้านเงินทุนลง