ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มอง ศก.ไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้วคาด GDP ทั้งปีหดตัว 3.5-5%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 3, 2009 10:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 52 จะหดตัวที่ 3.5-5% จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัว 3.5-6% โดยกรอบล่างของประมาณการอยู่ภายใต้สมมติฐานกรณีเลวร้ายที่เศรษฐกิจโลกอาจยังคงฟื้นตัวได้ล่าช้า และความไม่แน่นอนทางการเมืองจะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้จ่ายของรัฐบาล

ขณะที่การบริโภคของภาคครัวเรือนจะหดตัว 1.7-2.1% การลงทุนหดตัว 9-10% การส่งออกหดตัว 14.5-19% การนำเข้าหดตัว 23.5-28.5% และส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงขึ้นมาที่ 16,000-16,500 ล้านดอลลาร์

จากข้อมูลเศรษฐกิจรายเดือนล่าสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)รายงานตัวเลขเศรษฐกิจในช่วง เม.ย.-พ.ค.52 เดือน สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/52 ยังคงหดตัวในอัตราที่ค่อนข้างสูง แต่อาจเป็นอัตราชะลอจากไตรมาส 1/52 โดยคาดว่าการบริโภคของภาครัฐจะขยายตัวสูง เนื่องจากรัฐบาลมีการเบิกจ่ายเม็ดเงินตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1 ภายใต้งบประมาณกลางปี 1.167 แสนล้านบาท ที่มีการเบิกจ่ายไปแล้วประมาณ 57%

ขณะที่ การบริโภคของภาคเอกชนอาจจะหดตัวชะลอลง เนื่องจากประชาชนในหลายกลุ่มได้รับผลบวกจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐบาล แต่ในด้านการลงทุนและการส่งออกสินค้าและบริการอาจยังคงหดตัวสูงต่อเนื่องจากไตรมาสแรก ดังนั้น คาดว่า เศรษฐกิจไตรมาส 2/52 อาจจะหดตัวประมาณ 5.6% แม้ว่าภาคการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางการเมืองและการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ฯ แต่การปรับตัวดีขึ้นของการผลิตในภาคอุตสาหกรรมน่าจะมีส่วนอย่างมากในการดึงตัวเลขจีดีพีให้หดตัวชะลอลง และจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกคาดว่าจะหดตัว 6.3% ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์โอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยประเมินจากดัชนีความเป็นไปได้ของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ในระยะ 3 เดือนข้างหน้า(มิ.ย.-ส.ค.52)พบว่าโอกาสที่เศรษฐกิจจะกลับมามีอัตราการขยายตัวเป็นบวกนั้น เพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดที่ระดับ 19% เมื่อ มี.ค.52 ขึ้นมาที่ 65% ใน พ.ค.52 ขณะที่โอกาสความเป็นไปได้ของการฟื้นตัวในระยะ 3 เดือนข้างหน้ามีระดับเฉลี่ยประมาณ 63% ทั้งนี้ แม้ว่าโอกาสของการฟื้นตัวจะเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้า ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว แต่เศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงอยู่พอสมควร จากสภาวะการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ยังอ่อนแอ ขณะที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น

เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 52 น่าจะมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นกว่าในช่วงครึ่งแรก โดยคาดว่าเศรษฐกิจไตรมาส 3/52 จะหดตัว 4.2-5% และไตรมาส 4/52 คาดว่าจะหดตัว 2.3% ถึงขยายตัว 2.9% โดยมีปัจจัยหนุนจากการที่ รัฐบาลมีเงินทุนเพียงพอสำหรับใช้จ่ายในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 หลังมี พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 4 แสนล้านบาท รวมทั้งการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล มีแนวโน้มช่วงเดือนที่เหลือ จะเก็บได้สูงขึ้นจากการขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน สุรา เบียร์ และยาสูบ

นอกจากนี้รัฐบาลน่าจะทยอยเบิกจ่ายงบกลางปีส่วนที่เหลือในไตรมาส 3/52 และเริ่มมีโครงการลงทุนภายใต้งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 จำนวนหนึ่งในไตรมาสสุดท้ายของปี ขณะที่ความกังวลที่ลดน้อยลงต่อการจัดหาเงินทุนเพื่อใช้ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของรัฐบาล ตัวเลขการว่างงานที่น้อยกว่าที่คาด และทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้นกว่าที่เคยประเมินไว้

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังก็ยังอยู่ภายใต้ปัจจัยความไม่แน่นอนหลายด้านทั้งความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ความรุนแรงของการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 สถานการณ์การเมืองภายในประเทศและเสถียรภาพของรัฐบาล ตลอดจนปัญหาความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาค เช่น อิหร่าน เกาหลีเหนือ หรือความไม่สงบในไนจีเรีย ซึ่งอาจจะส่งผลให้ราคาน้ำมันทะยานสูงขึ้น ขณะเดียวกัน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอาจเป็นตัวเร่งเงินเฟ้อ หากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นรวดเร็วกว่าปัจจัยพื้นฐานของอุปสงค์ที่แท้จริง ภาคการส่งออกอาจได้รับแรงกดดันจากทิศทางค่าเงินบาทแข็งค่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ