นักวิเคราะห์ชี้การเปลี่ยนตัวผู้บริหารนโยบายการเงินของญี่ปุ่นไม่กระทบนโยบาย

ข่าวต่างประเทศ Friday July 3, 2009 12:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รัฐบาลญี่ปุ่นได้มีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำนโยบายด้านสกุลเงินและการกำกับดูแลด้านการเงินคนใหม่ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า การปรับครม.ครั้งนี้ไม่น่าจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนครั้งใหญ่ในด้านนโยบายการเงินและธนาคารของรัฐบาล โดยการโยกย้ายบุคลากรครั้งนี้ รินทาโร่ ทามากิ จะมาทำหน้าที่รัฐมนตรีช่วยกระทรวงคลัง ซึ่งจะดูแลนโยบายด้านสกุลเงิน ขณะที่คัทสึโนริ มิกุนิย่า จะมาทำหน้าที่คณะกรรมการสำนักงานบริการด้านการเงินแทน ทากาฟูมิ ซาโตะ

ทามากิ ซึ่งอายุ 55 ปี จะทำหน้าที่ในการดูแลนโยบายด้านสกุลเงินเหมือนกับที่ผู้บริหารก่อนหน้านี้ได้ดำเนินการมาภายใต้นโยบายไม่เข้าไปแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตรา เพื่อหยุดยั้งการปรับตัวขึ้นของเงินเยน ส่วนมิกุนิย่า อายุ 58 ปี จะทำหน้าที่ดูแลสำนักงานที่อาจจะเข้าไปตรวจสอบหรือใช้มาตรการลงโทษกับธนาคาร เพื่อสร้างความมั่นใจว่า ธนาคารต่างๆจะยังคงปล่อยเงินกู้ให้กับบริษัทเอกชนอย่างต่อเนื่อง

ยูจิ ไซโตะ หัวหน้าฝ่ายอัตราแลกเปลี่ยนของโซซิเอเต เจนเนอราล กล่าวกับบลูมเบิร์กว่า การเปลี่ยนแปลงบุคลากรคงจะไม่ทำให้นโยบายด้านสกุลเงินเปลี่ยนแปลงมากนัก สถานการณ์ทั่วโลกขณะนี้ไม่เอื้ออำนายให้ประเทศใดประเทศหนึ่งเข้าแทรกแซงตลาดเงิน ดังนั้น หากญี่ปุ่นแทรกแซงตลาดเงินเพียงฝ่ายเดียวก็คงจะไม่ได้ผลเช่นกัน

เงินเยนแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญๆของโลกทั้ง 16 สกุลเมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยทำให้ความต้องการสินทรัพย์ที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงกว่าลดลง นอกจากนี้ เงินเยนที่แข็งค่าขึ้นยังส่งผลกระทบต่อบริษัทส่งออกของญี่ปุ่น ซึ่งจะมีกำไรน้อยลงและสินค้าก็จะไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้

ญี่ปุ่นไม่ได้เข้าไปแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตรา ซึ่งเป็นไปตามคำร้องขอของกระทรวงการคลัง มาตั้งแต่ที่ธนาคารกลางได้ขายเงินเยนออกไปในไตรมาสแรกของปี 2547 เพื่อที่จะทำให้เงินเยนอ่อนค่าลง

ที่ผ่านมา การซื้อหรือขายเงินตราไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จของรัฐบาลในการหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงเศรษฐกิจโลกถดถอย เนื่องจากปัญหาอื่นๆจะยังคงมีอยู่ เช่น การขาดแคลนสินเชื่อ และความตึงเครียดในสถาบันการเงินต่างๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ