นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมระหว่างหน่วยงานภาครัฐไทยกับธนาคารโลก เพื่อระดมความคิดเห็นและหาแนวทางความร่วมมือระหว่างกันเพื่อส่งเสริมการพัฒนาแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ในประเด็นเรื่อง การเข้าถึงและการบริหารความเสี่ยงทางการคลังและโครงการอื่นอันเกี่ยวเนื่องกับการให้ความสนับสนุนด้านพืชผลทางการเกษตร ที่ประชุมได้เห็นชอบให้เพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายเพื่อสนับสนุนเกษตรกร ผ่านนโยบายการพัฒนาชนบททั้งในส่วนของปัจจัยพื้นฐานการผลิต การจดทะเบียนเกษตรกร และการยกระดับรายได้ของเกษตรกรที่ใช้กลไกอื่นแทนการรับจำนำสินค้าทางการเกษตร ที่ก่อให้เกิดภาระทางการคลัง รวมถึงการพัฒนากลไกตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า ให้เป็นทางเลือกในการบริหารความเสี่ยงของภาคเอกชน
ส่วนการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยงทางการคลังของรัฐบาล โดยการพัฒนากลไกประเมินความเสี่ยงทางการคลังอย่างครบวงจร การพัฒนาเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงทางการคลังจากความผันผวนทางเศรษฐกิจและการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการพัฒนากรอบการติดตามและประเมินภาระเสี่ยงทางการคลังที่สำคัญ เช่น ความเสี่ยงจากโครงการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐกับเอกชน (PPP) และความร่วมมือเพื่อพัฒนาแบบจำลองเพื่อใช้ในการบริหารหนี้สาธารณะ
สำหรับการประกันพืชผลทางการเกษตร และการบริหารความเสี่ยงของพืชผลทางการเกษตรในระยะสั้น โดยให้ขยายการใช้ดัชนีภูมิอากาศในการประกันพืชผลทางการเกษตร ขยายโครงการดัชนีความแห้งแล้งในข้าวโพด ใน 6 จังหวัด คือ จ.นครราชสีมา เพชรบูรณ์ ลพบุรี สระบุรี นครสวรรค์ พิษณุโลก และศึกษาความเป็นไปได้ที่จะขยายการประกันพืชแบบดัชนีสำหรับข้าว โดยธนาคารโลกอาจจะเข้ามามีบทบาทในการให้ความรู้ทางวิชาการ เสนอแนะและถ่ายทอดความรู้ สำหรับการออกแบบสัญญาการประกันพืชผลทางการเกษตร
ส่วนแนวทางระยะปานกลาง คือ การพัฒนายุทธศาสตร์ระดับชาติในการพัฒนาการประกันพืชผลทางการเกษตรในประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อหารูปแบบการประกันภัย ทั้งผลิตภัณฑ์แบบดัชนีและที่ไม่ใช่ดัชนี กำหนดความเสี่ยงที่ไม่สามารถอยู่ในระบบการประกันพืชผลได้ กำหนดทรัพยากรและความเชี่ยวชาญที่จำเป็น กำหนดกรอบแผนงานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน วิเคราะห์บทบาทของการประกันภัยและความเชื่อมโยงกับระบบการชดเชยความเสียหายจากภัยธรรมชาติ และทบทวนกรอบแผนงานด้านการกำกับดูแลเชิงกฎหมายต่างๆ
รมว.คลัง กล่าวอีกว่าที่ประชุม ได้หารือถึงการเพิ่มความเข้มแข็งในการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยให้ทบทวนบทบาทของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ให้คำนึงปรัชญาของการจัดตั้งที่มุ่งหมายเพื่อเติมเต็มช่องว่างสำหรับประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงการให้บริการของธนาคารพาณิชย์ทั่วไป และเพื่อให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจสามารถดำเนินการตามนโยบายรัฐอย่างโปร่งใส โดยกำหนดแนวทางบัญชีธุรกรรมการดำเนินการตามนโยบายรัฐ (Public Service Account: PSA) มาปฏิบัติ เพื่อความจำเป็นในการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินเฉพาะกิจในการปล่อยสินเชื่อ โดยภาครัฐสามารถประมาณการภาระได้อย่างชัดเจน
ทั้งนี้ มีแผนงานที่สามารถดำเนินการได้ทันทีภายใต้การดำเนินงานของหน่วยงานกำกับและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ คือ การจัดตั้งชมรมบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ในลักษณะที่ธนาคารพาณิชย์ดำเนินการอยู่ เพื่อให้มีเวทีสำหรับแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจและ ข้อมูลระหว่างกัน โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการปรับปรุงกระบวนการพิจารณาและอนุมัติสินเชื่อ และหน่วยงานกำกับทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ สศค. ธปท. และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จะจัดอบรมให้ความรู้ระหว่างหน่วยงานเพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับความเสี่ยงของสถาบันการเงินเฉพาะกิจต่อไป 4.2
ทั้งนี้ ธนาคารโลก พร้อมให้ความช่วยเหลือทางวิชาการในด้านต่างๆ ทั้งการสร้างเครื่องมือในการวิเคราะห์สินเชื่อและการนำเครื่องมือไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบการติดตามหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสินเชื่อรายย่อย การพัฒนาเครื่องมือและติดตามพฤติกรรมของลูกค้า และการบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน