ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดปลายปีบาทแตะ 33 บาท/ดอลล์ หากศก.ไทย-เอเซียฟื้นตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 7, 2009 14:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า การเคลื่อนไหวของเงินบาทช่วงครึ่งแรกของปี 52 ค่อนข้างมีเสถียรภาพและเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาค แม้ว่าจะมีอัตราการแข็งค่าที่มากกว่าสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชียก็ตาม โดยเงินบาท ณ ระดับปัจจุบัน (3 ก.ค. 52) แข็งค่าขึ้นประมาณ 2.1% จากระดับปิดตลาดปลายปี 51 ซึ่งนับว่าเป็นอัตราการแข็งค่ามากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ในภูมิภาค รองจากเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซีย

อย่างไรก็ตาม สัญญาณเชิงบวกของเศรษฐกิจโลกที่ทยอยปรากฏขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และอาจต่อเนื่องในระยะถัดไป อาจกลายมาเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อสถานการณ์ของภาคส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี 52 ดังนั้น การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทจึงอาจเป็นประเด็นที่ยังคงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

ส่วนแนวโน้มเงินบาทครึ่งหลังของปี 52 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นทดสอบระดับ 33.75 บาท/ดอลลาร์ และหากแรงหนุนยังคงมีความต่อเนื่อง เงินบาทก็อาจแข็งค่าขึ้นไปที่ระดับ 33.00 บาท/ดอลลาร์ ได้ในช่วงปลายปี 52 แต่กรณีเลวร้าย ยังคงมีความเป็นไปได้ว่า สัญญาณเชิงบวกของเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศทั่วโลก อาจไม่มีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจอื่นๆ ในเอเชีย รวมทั้งไทย ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการฟื้นตัว ดังนั้น ค่าเงินเอเชียบางสกุล ซึ่งรวมถึงค่าเงินบาท อาจไม่แข็งค่าได้มากนัก จึงมีโอกาสจะปรับตัวอ่อนค่าอยู่ในกรอบ 34.00 บาท/ดอลลาร์

ทั้งนี้ จากสภาวะแวดล้อมของเศรษฐกิจของไทยและเศรษฐกิจโลก อาจทยอยสะท้อนสัญญาณเชิงบวกออกมามากขึ้น จึงน่าเป็นปัจจัยสนับสนุนกระแสการกลับเข้าลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเพื่อแสวงหาแหล่งลงทุนที่ให้อัตราผลตอบแทนที่ดีกว่า เมื่อประกอบเข้ากับแนวโน้มการทยอยฟื้นตัวขึ้นของเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจส่วนใหญ่ในเอเชีย อาจทำให้เงินบาทมีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นได้ตามกระแสความแข็งแกร่งของเงินหยวนและสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ในขณะที่ เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจยังคงอยู่ในช่วงแรกเริ่มของการฟื้นตัวเท่านั้น

นอกเหนือ จากการคาดการณ์ถึงการแข็งค่าของค่าเงินหยวนแล้ว แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายๆ แห่งในเอเชีย ตลอดจนพื้นฐานทางเศรษฐกิจของเอเชียที่แข็งแกร่งกว่ากลุ่มเศรษฐกิจ G-3 อาจกลายเป็นปัจจัยแวดล้อมที่ช่วยหนุนการปรับตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นของสกุลเงินในเอเชีย และเงินบาท ในช่วงที่เหลือของปี 2552 ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินบาทจะทยอยเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และอาจทำให้มีความต้องการเงินดอลลาร์ เพื่อนำเข้าสินค้าเพิ่มมากขึ้น โดยที่แรงหนุนที่เงินบาทจะได้รับจากฐานะการเกินดุลการค้า ก็น่าจะลดลง เมื่อเทียบครึ่งแรกของปี 52 ส่วน ธปท.น่าจะยังคงจุดยืนของการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่เน้นเสถียรภาพของค่าเงินบาท ลดความผันผวนของค่าเงิน และเป็นไปตามกลไกตลาด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ