นักวิเคราะห์ที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กสำรวจความคิดเห็น คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางจีนจะคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ที่ 5.31% และคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ 2.25% ในปีนี้ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ
หว่อง เจี้ยง นักวิเคราะห์จากเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค ในฮ่องกง กล่าวว่า ผลของการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 4 ล้านล้านหยวน (5.85 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) เริ่มใช้ได้ผลแล้วในขณะนี้ หลังจากการค้าของจีนทรุดตัวลงเพราะถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย
"การตัดสินใจของรัฐบาลจีนเป็นการตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยวมาก เพราะจีนตระหนักว่าเศรษฐกิจกำลังเปราะบาง ในขณะที่อัตราว่างงานในจีนยังพุ่งสูงขึ้น ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยไม่ใช่ทางเลือกที่ถูกต้อง จะทำได้ก็แต่การคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่านั้น" นายเจี้ยงกล่าว
มาร์ค วิลเลียมส์ นักวิเคราะห์จากเครดิต สวิส กรุ๊ป เอเจีน กล่าวว่า ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประเภท 1 ปีของจีนยืนอยู่ที่ระดับ 5.31% หลังจากธนาคารกลางจีนลดดอกเบี้ยไปแล้ว 5 ครั้งในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีพ.ศ.2551 โดยการลดดอกเบี้ยครั้งแรกเกิดขึ้นหลังจากเลห์แมน บราเธอร์ส ล้มละลาย และจากนั้นธนาคารกลางก็ลดดอกเบี้ยอีก 4 ครั้ง ซึ่งนับเป็นสถิติที่ลดดอกเบี้ยมากที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์การเงินเอเชียในช่วงปีพ.ศ.2540-41
ขณะที่เครดิต สวิส ระบุว่า เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของเดือนเม.ย. ขณะที่ธนาคารโลกกล่าวว่าอาจเร็วเกินไปที่จะชี้ชัดว่าเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวขึ้น เมื่อพิจารณาจากเม็ดเงินการลงทุนภาคเอกชนที่มีสัดส่วนน้อยกว่าตัวเลขการใช้จ่ายของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม จีนเป็นประเทศเดียวในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ที่ยังขยายตัวได้ โดยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้เศรษฐกิจจีนขยายตัวที่ระดับ 6.1% แต่เป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2542
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวในรายงาน World Economic Outlook ว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะหดตัวลง 1.3% ซึ่งเป็นสถิติที่หดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และอาจทำให้ประชาชนทั่วโลกตกงานอีกอย่างน้อย 10 ล้านคน นอกจากนี้ IMF คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะหดตัว 2.8% ในปีนี้ ซึ่งเป็นสถิติที่หดตัวรุนแรงที่สุดในรอบ 63 ปี เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะหดตัว 6.2% ส่วนเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวเพียง 6.5% ในปีนี้ และเศรษฐกิจอินเดียจะขยายตัวเพียง 4.5% สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน