แหล่งข่าวเผยโตโยต้าลังเลเรื่องปิดหรือเดินหน้าโรงงานที่แคลิฟอร์เนีย หลังจีเอ็มถอนตัว

ข่าวต่างประเทศ Wednesday July 8, 2009 10:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า การตัดสินใจของโตโยต้า มอเตอร์ เรื่องปิดหรือรักษาโรงงานที่แคลิฟอร์เนียไว้หลังจากที่เจนเนอรัล มอเตอร์ส (GM) ได้ตัดสินใจยกเลิกการถือหุ้นในโรงงานดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. อาจจะมีปัญหาอันเนื่องมาจากศาลล้มละลาย

โตโยต้า ตั้งเป้าว่า จะตัดสินใจเรื่องการปิดกิจการหรือเดินหน้ากิจการบริษัท นิว ยูไนเต็ด มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง ซึ่งดูแลโรงงานที่แคลิฟอร์เนียเพียงผู้เดียวต่อไปในช่วงสิ้นเดือนก.ค.นี้

บลูมเบิร์กรายงานว่า โรงงาน อสังหาริมทรัพย์ และสินทรัพย์อื่นๆที่บริษัทไม่ต้องการใช้งานแล้วของจีเอ็มจะต้องถูกนำมาออกมาประมูลขาย เพื่อนำเงินมาชำระใช้เจ้าหนี้ ซึ่งสินทรัพย์ดังกล่าวนับรวมถึงบริษัท นิว ยูไนเต็ด มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง ที่บริษัทจีเอ็มอ้างว่าเป็นเจ้าของในสัดส่วน 722,662.08 ดอลลาร์ด้วยเช่นกัน โตโยต้าได้ตั้งทีมงานขึ้นมาเพื่อประเมินมูลค่าของบริษัท นิว ยูไนเต็ด มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง และได้สรุปผลการประเมินก่อนที่จะได้เจรจาเรื่องการซื้อหุ้น

ทสึโยชิ โมจิมารุ นักวิเคราะห์ของบาร์เคลย์ส แคปิตอล เจแปน กล่าวว่า การเจรจาต่อรองใดๆก็ตามจะต้องใช้เวลา และคงจะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

โตโยต้าได้ลงทุนในบริษัท นิว ยูไนเต็ด มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่งในเบื้องต้นเป็นเงิน 100 ล้านดอลลาร์ โดยการร่วมทุนในบริษัทดังกล่าวใช้เงินทุน 310 ล้านดอลลาร์ โดยโรงงานของ นิว ยูไนเต็ด มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง ซึ่งเป็นโรงงานประกอบรถแห่งเดียวในชายฝั่งตะวันตกของอเมริกาเหนือ มีความสามารถในการผลิตรถยนต์และรถกระบะ 420,000 คันต่อไป

อนาคตโรงงานของบริษัทที่เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2537 นั้น นับเป็นอีกปัจจัยที่อาจจะสร้างปัญหาให้กับความพยายามที่จะฟื้นธุรกิจของโตโยต้า รวมทั้งการรักษากิจการโรงงานต่างๆในแถบอเมริกาเหนือ ท่ามกลางภาวะยอดขายที่ตกต่ำที่สุดในสหรัฐนับตั้งแต่ปี 2519

ทั้งนี้ การถอนตัวของจีเอ็มทำให้โตโยต้ามีทางเลือก 2 ทาง คือ การเปิดโรงงานไว้ต่อไปพร้อมกับต้นทุนที่อยู่ในระดับสูงหรือปิดโรงงานไป และเลิกจ้างพนักงานประมาณ 4,500 ราย ซึ่งรวมถึงตำแหน่งพนักงานของสหภาพพนักงานด้านยานยนต์ของสหรัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ