นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาเรื่อง "แผนฟื้นฟูกิจการกับแนวทางใดที่ดีกว่า" โดยมีพนักงาน รฟท.กว่า 1,500 คนเข้าร่วมประชุม ว่า การสัมมนาครั้งนี้เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของพนักงาน รฟท.ทุกระดับชั้นจากทั่วประเทศ โดยมุ่งหวังที่จะวางแผนการดำเนินงานของ รฟท.ในอนาคต ซึ่ง รฟท.ต้องรับผิดชอบดำเนินโครงการขนาดใหญ่อีกหลายโครงการ ซึ่งหาก รฟท.ไม่ปรับตัวก็จะเกิดการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) แห่งที่ 2 และ 3 ซึ่ง รฟท.คงยอมรับไม่ได้ และยืนยันว่าแผนฟื้นฟู รฟท.ไม่มีการแปรรูปองค์กรอย่างแน่นอน
ด้านนายเอก สิทธิเวคิน หัวหน้าสำนักงานนโยบายแผนวิจัยและพัฒนา กล่าวถึงรายละเอียดของแผนฟื้นฟูฯ ว่า การปรับโครงสร้าง รฟท. โดยการตั้งบริษัทเดินรถ และบริษัทบริหารทรัพย์สิน เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการดำเนินงานที่ปัจจุบัน รฟท.ต้องดำเนินกิจกรรมหลายอย่างในองค์กรเดียว เช่น งานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน งานด้านการบำรุงรักษา งานด้านการให้บริการขนส่ง และงานด้านการบริหารทรัพย์สิน ซึ่งบริษัททั้ง 2 แห่งนี้ รฟท.ถือหุ้น 100%
นอกจากนั้น ยังมีแผนแก้ปัญหาหนี้สินของ รฟท.ที่มีอยู่ 72,850 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะรับภาระหนี้สินที่เกิดจากการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในอดีตแทน รฟท. คิดเป็นเงินประมาณ 3 หมื่นล้านบาท และในอนาคตก็จะรับผิดชอบด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางรางเหมือนเช่นการลงทุนสร้างถนน ขณะที่บริษัทเดินรถและบริษัทบริหารทรัพย์สินก็จะมีรายได้และลดการขาดทุนของ รฟท.ได้
ด้านนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ รฟท. กล่าวว่า สหภาพฯ ยืนยันคัดค้านแผนฟื้นฟูของ รฟท. ที่ให้มีการจัดตั้ง 2 บริษัทลูก แต่ให้พัฒนา รฟท.เดิมแทน ซึ่งมั่นใจว่าพนักงาน รฟท.มีศักยภาพ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะปัญหาหนี้สินกว่า 7 หมื่นล้านบาทนั้น เป็นเพราะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งหากเปรียบเทียบหนี้สินจากการลงทุนของ รฟท. กับ บมจ.การบินไทย(THAI) บมจ.ท่าอากาศยานไทย(AOT) หรือ ทอท. และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ซึ่งมีหนี้สินจากการลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท จะเห็นว่าหนี้สินจากการลงทุนของ รฟท.ยังอยู่ในระดับที่ต่ำ
ทั้งนี้ เห็นว่าการพัฒนาโครงสร้างของ รฟท.เดิม ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาลเห็นชอบในการจัดตั้งบริษัทเดินรถ เช่น ปรับขึ้นค่าโดยสาร 10% หลังจากนั้นทุก 3 ปี ให้สามารถปรับขึ้นค่าโดยสารได้อีก 10% การรับภาระเงินชดเชยบริการสาธารณะ และการรับภาระโครงสร้างพื้นฐาน จะทำให้ รฟท.มีรายได้เลี้ยงตัวเองโดยไม่ต้องตั้งบริษัทลูก
ด้านนายสมศักดิ์ โกศัยสุข หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ ในฐานะอดีตพนักงาน รฟท. กล่าวว่า ไม่เข้าใจว่าเมื่อโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงค์ รฟท.ลงทุนทั้งหมด แล้วทำไม รฟท.จึงจะเป็นผู้ให้บริการเดินรถไฟไม่ได้ และวันนี้ยังพบว่าผู้บริหารรถไฟบริหารที่ดิน รฟท.ไม่มีประสิทธิภาพ โดยทำห้กรรมสิทธิ์ที่ดินของ รฟท.หายไปเกือบ 2 หมื่นไร่ โดยเหลืออยู่เพียง 2.3 แสนไร่ จากเดิมที่มี 2.5 แสนไร่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นายสมศักดิ์แสดงความคิดเห็นก็ได้สอบถามที่ประชุมว่ามีใครเห็นด้วยกับแผนฟื้นฟู รฟท. หรือไม่ หากเห็นชอบให้ยกมือ ซึ่งพบว่าไม่มีพนักงานคนใดยกมือเลย และเมื่อถามว่าเห็นด้วยกับการปรับปรุง รฟท.หรือไม่ พนักงานจำนวนมากยกมือสนับสนุน หลังจากนั้นนายสมศักดิ์ก็ระบุว่าทราบความคิดเห็นของพนักงานแล้วงานสัมมนาก็ถือว่าจบ และมีผู้เข้าร่วมประชุมบางส่วนทยอยออกจากที่ประชุม ขณะที่ผู้ดำเนินรายงานขอให้พนักงานอยู่ต่อ เพราะยังมีประเด็นอื่นที่พนักงานบางส่วนต้องการซักถาม แต่พนักงานส่วนใหญ่ก็ออกจากที่ประชุมแล้วโดยใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงเศษเท่านั้น