นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)เผยยังคงยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11(55-59)เช่นเดิม และต้องประเมินระบบการบริหารจัดการให้เหมาะสมกับสภาวะการณ์ เนื่องจากเศรษฐกิจของไทยได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการกำกับดูแลระบบการเงิน การบริหารเศรษฐกิจในระบบทุนนิยม ตลอดจนกฎระเบียบที่จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ
สภาพัฒน์วางกรอบของแผนพัฒนาฯ ไว้ 5 แนวทาง ได้แก่ ความท้าทายและโอกาสของประเทศไทยหลังวิกฤติเศรษฐกิจโลก ในส่วนของการวางแผนพัฒนาประเทศไทยให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงระยะสั้นและระยะยาว ประเด็นสำคัญ คือ การรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและลดความเสี่ยงจากภาวะความผันผวนจากเศรษฐกิจโลก จะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากขึ้น เร่งสร้างความเข้มแข็งให้กับปัจจัยด้านการผลิตเพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจที่จะเป็นข้อจำกัดต่อศักยภาพการผลิตในระยะยาว และเร่งปรับโครงสร้างการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในสาขาต่าง ๆ อย่างทั่วถึง ตลอดจนสร้างฐานรายได้ของประชาชนใหห้กระจายรายได้ได้ดีขึ้น
การส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพและนวตกรรม โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้มีการใช้ศักยภาพและการพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมและบริการสร้างสรรค์ไทยที่ได้ดำเนินงานอยู่บ้างแล้วให้มีทิศทางและจริงจังมากขึ้น รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ควบคู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานความรู้ เพื่อนำไปเพิ่มคุณค่าและทุนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่มีอยู่
การเตรียมการรองรับภาวะโลกร้อน จะต้องให้ความสำคัญกับการปรับทิศทางการพัฒนาประเทศสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำโดยให้ความสำคัญกับการผลิตสวินค้าและบริการจากทรัพยากรชีวภาพที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็จะต้องสร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานด้วย
การออกแบบสถาปัตยกรรมทางสังคมให้เป็นทางเลือกใหม่ของคนไทย โดยปรับโครงสร้างทางสังคมให้เป็นสังคมที่มีคุณภาพ มีภูมิคุมกันที่แข็งแกร่งรองรับการเปลี่ยนแปลงในโลกโลกาภิวัฒน์ และมีกรนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ต่อยอดกับทุนทางสังคม ซึ่งเป้าหมายจะสะท้อนมาจากสังคมใน 4 มิติ คือ สังคมแห่งความเอื้ออาทรและสมานฉันท์ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม การรวมกลุ่มเพื่อสร้างโอกาสให้กับทุกคนอย่างเป็นธรรม การเสริมสร้างพลังทางสังคม
และการสร้างสัญญาประชาคมใหม่ให้เป็นพลังขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่สมดุลย์ ด้วยการให้แต่ละภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการต่าง ๆ เป็นการยุดหลักคุณธรรม และรักษาสิทธิของตนเองโดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น เพื่อให้ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขมีความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน
เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า ช่วงปี 52-53 จะลงพื้นที่ไปรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนให้ได้มากที่สุดเพื่อนำมาสรุปเป็นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 และคาดว่าจะเสนอแผนพัฒนาฯ ดังกล่าวให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ในปี 54