"ณรงค์ชัย"ชู 3 แนวทางสำเร็จสู่แผนพัฒนาฯฉบับ 11 ที่สอดคล้องศก.-สังคมโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 10, 2009 15:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(Exim Bank) กล่าวว่า เพื่อให้การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11(55-59) เป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสมกับเศรษฐกิจ, สังคม ทั้งของไทยและของโลกนั้น สิ่งสำคัญ 3 ด้านหลักที่ไทยจำเป็นต้องดำเนินการนับตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปคือ การปรับตัวให้เข้ากับขั้วและโครงสร้างการเมืองและเศรษฐกิจใหม่, การตั้งรับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกให้ได้ และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโดยมุ่งสร้างความเข้มแข็งและการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน

การปรับตัวให้เข้ากับขั้วและโครงสร้างการเมืองและเศรษฐกิจใหม่นั้น ไทยจำเป็นต้องเพิ่มความสัมพันธ์ในระดับพิเศษกับประเทศต่างๆ ให้มากขึ้นนอกเหนือจากสหรัฐอเมริกา เช่น ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน, ประเทศในเอเชียตะวันออก เช่น จีน, ญี่ปุ่น ประเทศในสหภาพยุโรป, ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ เนื่องจากประเทศเหล่านี้จะเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อเศรษฐกิจของโลกในยุคโลกาภิวัฒน์มากขึ้น

ส่วนการตั้งรับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกให้ได้นั้น ไทยอาจจะทำได้จากทั้งการใช้มาตรการการเงินและมาตรการการคลัง โดยมาตรการการเงิน เช่น นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำ, สภาพคล่องสูง, การเข้าถึงสินเชื่อได้ง่าย และการรักษาเสถียรภาพของเงินบาท ขณะที่มาตรการการคลัง อาจทำได้โดยการลด/รักษาการเก็บภาษี, การเพิ่มหรือเร่งรัดการใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อสังคมมากขึ้น

ขณะที่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโดยมุ่งสร้างความเข้มแข็งและการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันนั้น สามารถทำได้โดยการพัฒนาการค้า การลงทุนของสินค้าและบริการที่มีพื้นฐานมาจากเกษตรกรรม ทรัพยากรธรรมชาติ อุตสาหกรรมหัตถกรรมบริการในรูปแบบที่สร้างสรรค์ และศิลปวัฒนธรรมในรูปแบบที่แตกต่าง, การลดการพึ่งพาตลาดและบรรษัทข้ามชาติจากตะวันตก, สร้างโครงสร้างพื้นฐานและระบบการทำงานที่ช่วยการค้า การลงทุนกับประเทศในเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา รวมทั้งการสร้างความสมานฉันท์กับโลกมุสลิมให้มากขึ้น

"ถ้าหากทั้งหมดนี้อยู่ในแผนพัฒนาฯ ฉบับ 11 ได้ ก็จะนำไปสู่แผนพัฒนาฯ ที่ถูกต้องและเหมาะสมกับสังคมโลก รวมทั้งสังคมไทยด้วย"นายณรงค์ชัย กล่าวในหัวข้อ"แนวคิดและทิศทางการพัฒนาประเทศไทย ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับ 11"

ด้านนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานมูลนิธิหัวใจอาสา ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคม นำเสนอ การจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 ใน 4 ประการ ประกอบด้วย 1.ตัวชี้วัดความสำเร็จและกงล้อหลักสู่ความสำเร็จของการพัฒนาที่ต้องวัดจาก"ความอยู่เย็นเป็นสุข"ทั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)องค์กร ประเด็นปัญหา และระดับประเทศ โดยวัดที่สุขภาวะ การมีความดี และการมีความสามารถ เพื่อให้เห็นว่าประชาชนจะไปปฏิบัติและสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขได้อย่างไร

2.วัดจากผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและโครสร้างที่เอื้ออำนวยจากการรวมตัวจัดการให้มั่นคง ที่มีทั้งสุขภาวะและธรรมาภิบาล ประชาชนในท้องถิ่นจัดการได้เพื่อให้โครงสร้างอำนวยและทำงานได้ 3.กระบวนการวางแผนที่เป็นของประชาชนโดยภาครัฐมีส่วนร่วมและสนับสนุน และ 4.การวางแผนในลักษณะเคลื่อนที่ (Moving plan) ตามสูตร 2+6+12=20 (แผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว)

นายไพบูลย์ มองว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 ของสภาพัฒน์อาจไม่เพียงพอ จึงเสนอให้จัดสานเสวนาประชาชนหรือรูปแบบที่ไม่ใช่การรับฟัง แต่ให้ประชาชนรับมาหาข้อตกลงร่วมกันเป็นสัญญาประชาคม



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ