นายชวลิต พิชาลัย รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)กล่าวว่า หลังจากที่สำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ได้ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเรื่องการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้ว คาดว่าจะมีข้อสรุปที่ชัดเจนในปี 53 ว่าประชาชนจะเห็นด้วยกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกในประเทศไทยหรือไม่ ซึ่งหากประชาชนส่วนใหญ่ไม่สนับสนุน กระทรวงพลังงานคงจะต้องมีการเสนอแนวทางเลือกด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงประเภทอื่นทดแทน
ตามแผนพัฒนากำลังไฟฟ้า (พีดีพี) ขณะนี้ได้กำหนดไว้ว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โรงแรกของไทยจะมีกำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์ จะเกิดขึ้นในปี 2563 และโรงที่ 2 อีก 1,000 เมกะวัตต์จะเกิดขึ้นในปี 2564 โดยขณะนี้ได้มีการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานรองรับทั้งการว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมจากการเสนอรอบแรก 14 พื้นที่ ก็จะคัดเหลือ 5 พื้นที่ในกลางปีหน้า และหลังจากนั้นจะมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)แล้วคัดเลือกเหลือ 3 พื้นที่ เพื่อดูจุดที่เหมาะสมที่สุดในการก่อสร้างต่อไป
รองผู้อำนวยการ สนพ. กล่าวว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีความเหมาะสมทั้งเป็นแหล่งเชื้อเพลิงราคาถูก เพราะในอนาคตเชื้อเพลิงประเภทฟอสซิส ทั้งน้ำมัน ถ่านหิน มีแนวโน้มราคาจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และพลังงานนิวเคลียร์ ยังช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อน เพราะมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่บรรยากาศในอัตราส่วนน้อยเพียง 6 กรัม/หน่วย ต่ำกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินถึง 130 เท่า
ขณะที่ประเทศไทยมีทางเลือกเรื่องการใช้เชื้อเพลิงน้อยลง เนื่องจากปริมาณสำรองทั้งถ่านหินและปิโตรเลียม พิสูจน์แล้วคาดว่าจะหมดลงใน 15-22 ปีข้างหน้าดังนั้น ไทยจึงต้องเตรียมพร้อมในการหาเชื้อเพลิงทดแทนที่เหมาะสม มั่นคง และราคาไม่สูงเกินไป
ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าโดยมาจากก๊าซธรรมชาติ 70 % ลิกไนต์ 12.6% ถ่านหินนำเข้า 8.2% พลังน้ำ 4.7% ไฟฟ้านำเข้าจากต่างประเทศ 1.9% พลังงานทดแทน 1.4% และน้ำมัน 1.2%