กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แนะนำให้ธนาคารกลางอินโดนีเซียเลิกใช้นโยบายลดอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีนี้ หลังจากที่มีการคาดการณ์กันว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์และดีมานด์จะปรับตัวสูงขึ้นสอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
มิลาน ซาวัดจิล หัวหน้าผู้แทนของอินโดนีเซียประจำไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า การลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกไม่ใช้ทางแก้ที่ถูกจุดอีกต่อไปสำหรับอินโดนีเซียเมื่อพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมในปัจจุบัน ดังนั้นธนาคารกลางควรระมัดระวังเรื่องการใช้นโยบายดังกล่าวในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้
เขากล่าวด้วยว่า แผนกระตุ้นการเงินมูลค่ามหาศาลซึ่งมุ่งเน้นไปที่ระบบธนาคารจะแสดงประสิทธิผลในท้ายที่สุด ขณะเดียวกันก็ควรใช้นโยบายที่เหมาะสมในการจัดการกับสภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูง
"เราเชื่อว่าธนาคารกลางอินโดนีเซียมีช่องทางจำกัดในการลดดอกเบี้ยลงอีก แม้ว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเริ่มลดลงและเงินรูเปียห์แข็งค่าขึ้น" ซาวัดจิลกล่าว
ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ไอเอ็มเอฟเผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ระบุว่า ไอเอ็มเอฟเล็งเห็นว่าประเทศต่างๆเริ่มผ่านพ้นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 กันแล้ว อย่างไรก็ตาม คาดว่ากระบวนการฟื้นตัวยังเป็นไปอย่างเชื่องช้า
นอกจากนี้ รายงานยังระบุด้วยว่า การที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอุปสงค์ปรับตัวสูงขึ้นสอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศพัฒนาแล้ว อาจเพิ่มแรงกดดันให้ทั่วโลกต้องเผชิญภาวะเงินเฟ้อในปีหน้า
โดยทั่วไป ประเทศกำลังพัฒนาควรลดอัตราดอกเบี้ยถ้าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ แต่เรื่องดังกล่าวก็ควรได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อหลีกเลี่ยงความผันผวนในอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและกระแสเงินทุนไหลออก
เจ้าหน้าที่ไอเอ็มเอฟกล่าวต่อไปว่า การลดดอกเบี้ยลงอีกไม่เหมาะสมกับอินโดนีเซียอีกต่อไป เนื่องจากเศรษฐกิจอินโดนีเซียเริ่มขยายตัวอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ความท้าทายจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นอาจเป็นตัวเร่งภาวะเงินเฟ้อได้
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นับตั้งแต่เดือนธ.ค.2551 - ก.ค. 2552 ธนาคารกลางอินโดนีเซียได้ลดดอกเบี้ยลงแล้วรวม 2.75% จนลงมาอยู่ที่ระดับ 6.75% ในขณะนี้ เพื่อตอบสนองต่ออัตราเงินเฟ้อที่ลดลงอย่างรวดเร็ว